เมืองไทย 360 องศา
“ยังไม่ยุบสภา (ตอนนี้) รอให้ กกต.ได้ทำงานก่อน”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แกนนำสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวหลังเสร็จสิ้นการปราศรัยครั้งแรกที่ จ.ชุมพร เมื่อตอนค่ำวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ความหมายก็คือ ตามขั้นตอนหลังจากที่ พ.ร.ป.สำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับ คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ซึ่งทาง กกต.จะต้องมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ ตามกฎหมายใหม่ ที่จะต้องเปลี่ยนจากเดิมที่มีจำนวน 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขตทั่วประเทศ โดยจะต้องคำนวณตามสัดส่วนจำนวนประชากรเพิ่มลดของแต่ละจังหวัดประกอบกัน
ล่าสุด มีความชัดเจนมากขึ้นไปอีก เมื่อทางเลขาธิการ กกต. นายแสวง บุญมี ได้เข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาในการทำงานเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าว
นายวิษณุ เปิดเผยภายหลังการหารือกับเลขาธิการ กกต. กรณีกฎหมายลูก 2 ฉบับ ประกาศใช้ โดย กกต.จะขอเวลา 45 วัน เตรียมการเลือกตั้งก่อนยุบสภาได้หรือไม่ ว่า หากเป็นอย่างนั้น กกต.คิดถึงความสะดวก แต่บางครั้งการยุบสภาเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่จะยึดเอาความสะดวกไม่ได้ เอาเป็นว่าต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ เวลา 45 วัน สามารถทำได้สบายๆ แต่บางทีก็เอาสบายไม่ได้
แต่ที่แน่ๆ จากการหารือกับ กกต. ได้ความว่า สิ่งที่เป็นปัญหา คือ กกต.ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งจากเดิม 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขต และยังมีประชากรที่เพิ่มขึ้น และบางจังหวัดก็ลดลง ทำให้กระทบกับจำนวน ส.ส. การแบ่งเขต หาก กกต. แบ่งตามใจชอบวันเดียวก็เสร็จ แต่กฎหมายกำหนดว่า การแบ่งเขตจะต้องส่งให้แต่ละจังหวัดเพื่อให้ กกต.จังหวัด ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นๆ ด้วย
ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คือ เดือน ก.พ.ทั้งเดือนที่มี 28 วัน แต่อาจจะทำให้เร็วกว่านั้น หากแต่ละจังหวัดรายงานกลับมาเร็วไม่มีปัญหา อาจจะใช้ 25 วันก็ได้ หลังจากนั้นจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะให้ยืดไปก็จะไปครบสมัยวันปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 28 ก.พ.พอดี แต่จะให้เร็วอย่างที่หลายคนนึก เพราะเห็นว่ากฎหมายลูกประกาศแล้ว ก็ควรยุบได้แล้วนั้น หรือเห็นว่ารัฐบาลเงียบเป็นการยื้อเวลา ไม่ยอมรีบยุบ ต้องบอกเลยว่า กกต.ชี้แจงว่า ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะยังแบ่งเขตไม่เสร็จ ที่ตนชี้แจงต้องการบอกประชาชนทั้งหมด และพรรคการเมืองต่างๆ ให้รับทราบ และจะแจ้งให้ครม.ทราบในวันที่ 31 ม.ค. นี้
ถามว่า แปลว่า หลังวันที่ 28 ก.พ. สามารถยุบสภาได้ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ถึง 45 วัน และตนได้ย้ำกับเลขาธิการ กกต. ไปว่า บางครั้งการเมืองไม่สามารถเอาสบายได้ เพราะการยุบสภา เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจำเป็นต้องยุบในวันนี้ และบอกว่ายังไม่ครบเวลา 45 วัน ให้รอไปก่อน ก็คงรอไม่ได้ แต่หากรอได้ก็ไม่ยุบ อยู่ไปจนสภาครบวาระ ขึ้นอยู่กับเหตุที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหมดไม่สามารถยุบสภาก่อนที่จะรู้เขตเลือกตั้งได้ เพราะยุบสภาปั๊บ เครื่องจะเดินทันที ต้องประกาศวันเลือกตั้ง แต่เวลาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา ที่เสนอโดยรัฐบาลจะไม่เห็นวันเลือกตั้ง เพราะวันเลือกตั้ง กกต.จะกำหนด ไม่ใช่รัฐบาล และจะประกาศวันสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องรู้วันเลือกตั้งก่อน หากการไปแบ่งเขตแบบซิกแซก บ้านอยู่ซอยเดียวกัน แต่ไปแบ่งแยกเขต เขาเรียกว่าแบ่งเขตตามใจชอบ หรือ แบบกิ้งก่า แขนไปทางขาไปทาง เพื่อชิงความได้เปรียบ
เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์รัฐบาลยื้อเวลาในการจัดการเลือกตั้ง รองนายกฯ กล่าวว่าไม่ได้ยื้อ ไม่ได้อะไรทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามหลัก ซึ่ง กกต.เป็นองค์กรอิสระที่ต้องไปกำหนด
เอาเป็นว่า เมื่อฟังจาก นายวิษณุ เครืองาม ที่หารือกับ เลขาธิการ กกต. แล้วได้ข้อสรุปว่า ยังไม่อาจยุบสภาภายในวันสองวันนี้ได้ แม้ว่ากฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้วก็ตาม เพราะต้องรอ กกต.แบ่งเขตใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 400 เขต ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน โดยอาจจะเสร็จสิ้นก่อนเวลาดังกล่าวก็ได้ และหากให้เข้าใจก็คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค่อนไปทางปลายเดือน หรืออาจเป็นวันที่ 28 กุมภาฯ ที่เป็นวันปิดสมัยประชุมพอดี หรือวันรุ่งขึ้นก็ได้
เพราะเมื่อพิจารณาตามไทม์ไลน์แล้วในช่วงเดือนดังกล่าว ยังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบไม่ลงมติที่กำหนดเอาไว้ วันที่ 15-16 ม.ค. ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าหลังจากอภิปรายกันเสร็จเรียบร้อยพ่นน้ำลายกันเมามันแล้ว หลังจากนั้น ก็อาจยุบสภาเลยก็ได้ แต่อย่างที่บอก แม้ว่ารัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเป็นคนประกาศยุบสภา แต่ฝ่ายที่กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งและกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ต้องเป็น กกต.เท่านั้น ดังนั้นเอาเป็นว่าปลายเดือน ก.พ. น่าจะยุบสภามากที่สุด ทำให้มีการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.
ดังนั้น หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว เชื่อว่า บรรดาคอการเมืองน่าจะมองเห็นแล้วว่าการยุบสภาน่าจะเกิดประมาณไหน ขณะเดียวกัน นับจากนี้ ก็จะได้เห็นการเปิดตัว ย้ายค่าย ย้ายพรรคกันมากขึ้น โดยเฉพาะภายในวันที่ 7 ก.พ. ที่คาดว่า จะมี ส.ส.ลาออกกันมาก เพราะเป็นหลักประกันความชัวร์ในเรื่องของการสังกัดพรรคภายใน 90 วัน ป้องกันเอาไว้ก่อน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะยุบสภาก่อนก็ตาม
ขณะเดียวกัน ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ก็คือ นับจากนี้จะได้เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในแบบที่ไม่มีใครเกรงใจใครกันอีกต่อไป โดยเฉพาะในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติ กับ พรรคพลังประชารัฐ และ ภูมิใจไทย เป็นต้น เพราะทั้งสามพรรคที่มีผู้นำพรรคล้วนต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีกันทั้งนั้น แม้ว่าหากพิจารณาจากแนวโน้มแล้ว พวกเขาล้วนมีโอกาสกลับมาจับมือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งก็ตาม
แต่นาทีนี้ด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเดิมพัน ต่างฝ่ายล้วนมีเดิมพันสูง ดังนั้น เป้าหมายเฉพาะหน้า ก็คือ แต่ละพรรคดังกล่าวต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ ส.ส.มากที่สุด เพื่อสร้างพลังต่อรองในการนั่งเก้าอี้นายกฯ คนต่อไปนั่นเอง
ดังนั้น หากให้สรุปอีกทีก็ต้องบอกว่านับจากนี้บรรยากาศการเมืองจะเริ่มเข้มข้นเดือดพล่านกว่าเดิมหลายเท่า บรรดาวิชามาร ก็จะถูกงัดออกมา เพราะเหมือนกับเริ่มเข้าโค้งนับถอยหลังยุบสภากันแล้ว และที่ต้องจับตากันเป็นพิเศษ ก็คือ “เกม” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนับจากนี้ และที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ เราอาจจะได้เห็น “เกมหักเหลี่ยม” ระหว่าง “สอง ป.” กันชัดขึ้น ทั้งในเรื่องนโยบายและผลงาน เพราะมัน“ทับซ้อน” จนแยกกันยาก แต่เพื่อเป้าหมายข้างหน้ามันก็ต้องทำ!!