xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักเกณฑ์เบิกจ่ายรักษา "โควิด" ใหม่ รองรับผู้ป่วยนอก กลุ่มสีเขียวจ่ายอัตราเดียวทุกรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.แจงหน่วยบริการทั่วประเทศ หลังปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายรักษา "โควิด" ใหม่ รองรับแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน เริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค. เหมาจ่าย 1 พันบาทต่อราย ให้คำปรึกษาหลัง 48 ชม.อีก 300 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มสีเขียวที่เข้ารักษาใน รพ.ตามระบบ หรือ UCEP COVID หรือรักษานอก รพ. HI/CI ฮอสปิเทล จ่ายอัตราเดียวกันหมด ย้ำตรวจ RT-PCR เฉพาะผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้ารักษาใน รพ.เท่านั้น

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่ายกรณีบริการดูแลรักษาโรคโควิด 19 ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า กรมการแพทย์ ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศและต่างประเทศ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ติดเชื้อโควิด เมื่อตรวจ ATK ผลเป็นบวกให้ประเมินอาการและความเสี่ยง หากไม่มีให้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation (HI) และแยกกักตัวที่บ้านได้ ซึ่งกรณีรับผู้ป่วยนอก ระบบจะโทรติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง หากมีอาการแย่ลงจะส่งต่อรักษาใน รพ. ส่วนกรณีมีอาการและมีความเสี่ยง รวมถึงที่บ้านไม่มีความพร้อมแยกกักตัว จะเข้าสู่การดูแลในระบบ Hotel Isolation, Hospitel และ Community Isolation โดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซึ่งจะตรวจเฉพาะกรณีเข้ารักษาหรือส่งต่อรักษาที่ รพ.

ส่วนการให้ยารักษา ย้ำว่ากรณีผู้ป่วยไม่มีอาการหรือสบายดี จะไม่ให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ ให้ยาฟ้าทะลายโจรขึ้นอยู่ตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่หากมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยา เพราะจากข้อมูลการรักษาพบว่าเชื้อโอมิครอน 80% ผู้ป่วยจะหายเองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช. กล่าวว่า ตามที่กรมการแพทย์ได้ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด สปสช.จึงปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการเริ่มวันที่ 1 มี.ค. 2565 ดังนี้ 1.บริการคัดกรองโควิดสำหรับคนไทยทุกสิทธิ ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด การคัดกรองก่อนทำหัตถการตามที่กรมการแพทย์กำหนด และตามดุลยพินิจแพทย์ เฉพาะดำเนินการภายในหน่วยบริการ ทั้งการตรวจ RT-PCR ประเภท 2 ยีน อัตรา 900 บาท/ครั้ง และ 3 ยีน อัตรา 1,100 บาท/ครั้ง การตรวจแบบ Antigen Professional ทั้งวิธี Chormatography อัตรา 250 บาท/ครั้ง และวิธี FIA อัตรา 350 บาท/ครั้ง

2.การสนับสนุนชุดตรวจ ATK สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในอัตรา 55 บาท/ชุด โดยจ่ายให้กับหน่วยบริการ ซึ่งประชาชนรับชุดตรวจครั้งละไม่เกิน 2 ชุด/ครั้ง โดยตรวจเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 วัน และรายงานผลผ่านแอบเป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย

3.บริการดูแลรักษาโควิด กรณีแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation) เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แยกการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็น 2 ส่วน คือ 1) ค่าบริการแบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย ครอบคลุมการให้คำแนะนำแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษา ติดตามอาการ และจัดระบบส่งต่อ และ 2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือดูแลรักษาเบื้องต้นหลังครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว (บริการรองรับการติดต่อกลับ) เหมาจ่ายอัตรา 300 บาท/ราย หากไม่เข้าเกณฑ์ OP self Isolation จะครอบคลุมบริการตรวจแล็บและค่าเก็บตัวอย่าง ทั้ง RT-PCR, Antibody และ Antigen ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และ ยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาท/ครั้ง

กรณีกลุ่มสีเขียวที่เข้ารักษา รพ.ในระบบ , เข้า UCEP COVID หน่วยบริการนอกระบบ , รักษานอก รพ. ได้แก่ HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel เป็นต้น กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายแบบเหมาจ่าย ครอบคลุมบริการดูแลผู้ติดเชื้อ ค่าอาหาร 3 มื้อ/วัน อุปกรณ์ในการดูแลและติดตามสัญญาณชีพ ค่ายา และค่าเอกซเรย์ปอด หรือ Chest X-ray กรณีจำเป็น โดยรักษาตั้งแต่ 1-6 วันอยู่ที่อัตรา 4,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 6,000 บาท และหากรักษา 7 วันขึ้นไป อยู่ที่ 8,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 12,000 บาท

บริการผู้ป่วยใน กำหนดจ่ายตามระบบ DRG และจ่ายเพิ่มเติมทั้งในส่วนค่าตรวจแล็บ ค่ายารักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิดไม่เกิน 7,200 บาท/ราย ค่าห้องดูแลรวมค่าอาหาร ตั้งแต่เตียงระดับ 1-3 ในอัตราตั้งแต่ 1,000-7,500 บาท ค่าชุด PPE อัตรา 550 บาท/ชุด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการและอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อ 300-11,000 บาท/วัน และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และ ยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาท/ครั้ง

“การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ยังดีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงมีไม่มาก กรมการแพทย์จึงปรับแนวทางการรักษา เพื่อการดูแลที่เหมาะสม สปสช.จึงร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ ปรับระบบชดเชยค่าบริการให้สอดคล้องและชี้แจงหน่วยบริการให้ทราบ เพื่อบริการที่ต่อเนื่อง และเบิกจ่ายชดเชยที่ถูกต้อง” พญ.กฤติยา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น