xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จัด รพ. 14 จังหวัดช่วยดูแลผู้ติดเชื้อ "โควิด" ใน กทม.แบบ OPD "เจอ แจก จบ" เริ่ม 4 มี.ค. หลังพบตกค้างกว่า 3 หมื่นสาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.คาดคุม "โควิด" เข้มระดับ 4 กดติดเชื้อลงได้ช่วงปลาย เม.ย. จัด รพ. 14 จังหวัดรอบ กทม. ช่วยผู้ติดเชื้อโควิด กทม.ติดต่อสายด่วน 1330 ไม่ได้ วอล์กอินมารับบริการแบบ OPD เจอแจกจบ เริ่มตั้งแต่ 4 มี.ค.นี้ รับได้รวมวันละ 18,650 ราย คาด 1-2 สัปดาห์ช่วยลดปัญหารอสาย ไม่ได้รับติดต่อกว่า 3 หมื่นสายลงได้

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงขยายบริการ "เจอ แจก จบ" รับผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น ว่า การคาดการณ์สถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป ต้องพยายามทำให้อยู่ในเส้นสีเขียว โดยลดการไปสถานที่เสี่ยง งดรวมกลุ่มคน และชะลอการเดินทาง จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงไปในช่วงปลายเดือน เม.ย. สำหรับสถานการณ์เตียงโควิดทั่วประเทศ มีการใช้เตียงใน รพ. 57% ส่วนใหญ่เป็นเตียงระดับ 1 สีเขียว 66% บางแห่งขึ้นไปถึง 90% ซึ่งจริงๆ กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องนอน รพ. ส่วนเตียงระดับ 2.1 สีเหลือง ใช้เตียง 22% เตียงระดับ 2.2 สีส้ม ใช้เตียง 14% และเตียงระดับ 3 สีแดง ใช้ 22% ถือว่ายังมีเพียงพอรองรับ

สำหรับสายด่วน สปสช. 1330 ข้อมูลวันที่ 2 มี.ค. มีการโทรเข้า 70,300 สาย ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ 700 คน โดยมีสายติดต่อเจ้าหน้าที่ 59,614 ราย รับสายได้ 29,688 สายหรือครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งไม่ได้รับสาย ทำให้เกิดการรอคอยราว 30,000 สาย เรียกว่าสายเข้ามามากเกินกำลังเจ้าหน้าที่ การบรรเทาความเดือดร้อนผู้โทร 1330 ที่รอคอยนานหรือยังไม่ได้รับการติดต่อกลับนั้น สปสช.ได้เพิ่มคนมารับสายมากขึ้น ส่วน สธ.มีโครงการเจอ แจก จบ รักษาแบบผู้ป่วยนอก หากตรวจ ATK ด้วยตัวเองผลเป็นบวก ไปรับการรักษาผู้ป่วยนอก รพ.ใดก็ได้ จะประเมินภาวะเสี่ยง หากไม่มีภาวะเสี่ยงจะแจกยา ให้ความรู้การดูแลตนเอง การแยกกัก การเดินทาง จบอยู่ในระบบบริการ มีการติดตามอาการใน 48 ชั่วโมง และหากมีอาการมากขึ้นสามารถติดต่อกลับ รพ.ได้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าผู้ที่รักษาตัวที่บ้านโอกาสที่จะกำเริบอาการมากขึ้นและต้องกลับไปรักษาตัวต่อถือว่าน้อยมาก เพียง 0.5%

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมีผล ATK เป็นบวก แต่ติดต่อ 1330 ไม่ได้ หรือรอคอยนานเป็นพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีประชากรมากและผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สธ.จึงบรรเทาความเดือดร้อน โดยจัด รพ.ใน 14 จังหวัดรอบ กทม.ให้การดูแลแบบ "เจอแจกจบ" รองรับได้ 18,650 รายต่อวัน ได้แก่ นนทบุรี 1,500 รายต่อวัน , ปทุมธานี 1,100 รายต่อวัน , พระนครศรีอยุธยา 1,670 รายต่อวัน , สระบุรี 1,800 รายต่อวัน , นครนายก 600 รายต่อวัน , สิงห์บุรี 900 รายต่อวัน , อ่างทอง 900 รายต่อวัน , นครปฐม 1,600 รายต่อวัน , สมุทรสงคราม 500 รายต่อวัน , สมุทรสาคร 800 รายต่อวัน , สุพรรณบุรี 1,700 รายต่อวัน , สมุทรปราการ 1,300 รายต่อวัน , ชลบุรี 1,930 รายต่อวัน , ฉะเชิงเทรา 1,300 รายต่อวัน , รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต 450 รายต่อวัน และ รพ.สังกัดกรมควบคุมโรค 600 รายต่อวัน โดยผู้ที่ไม่สามารถติดต่อ 1330 ได้ สามารถวอล์กอินเข้าไปจะได้รับการดูแลอย่างดีแบบผู้ป่วยนอก โดยการเดินทางให้ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น หากไปรถยนต์ส่วนตัวจะดีที่สุด

"สธ.อยากบรรเทาความเดือดร้อน โดยจัดบริการเจอแจกจบที่ รพ.สังกัด สธ.รอบ กทม. มั่นใจว่าได้ยาแน่นอนตามดุยพินิจแพทย์ ทั้งฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ หรือยารักษาตามอาการอื่นๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการข้ามเขต เพราะ สธ.หารือกับ สปสช. และหน่วยงานหลักประกันสุขภาพอื่นๆ แล้วว่า ทุกคนรักษาดูแลในระบบผู้ป่วยนอกได้ทุกจังหวัดที่กล่าวถึง แม้แต่จังหวัดอื่นๆ ก็รับบริการผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขอให้สบายใจ รับการดูแลทั่วถึง โดยพร้อมให้บริการรองรับตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.เป็นต้นไป ซึ่งได้ประชุมเทลเคอนเฟอรเนซ์และสั่งการไปแล้ว ซึ่งทางพื้นที่ก็มีความพร้อมเรื่องบริการ แต่จะมีความพร้อมมากขึ้นในสัปดาห์หน้า" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ภาพรวมการเพิ่มระบบบริการโควิดผู้ป่วยนอกตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. พบว่าได้รับความสนใจและการตอบสนองอย่างดีจากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เข้ารับการรักษาโควิดในระบบ 2 แสนกว่าราย โดยอยู่ในระบบ HI/CI ถึง 1.4 แสนราย ซึ่งบุคลากรทางการแพทยืก็ต้องมีการติดตามอาการทุกวันก็อาจจะไม่ไหว ซึ่งผู้ป่วยนอกเจอแจกจบก็จะมาช่วยตรงนี้ และคาดว่าหากดำเนินการประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะช่วยลดปัญหาการรอสาย ไม่ได้รับการติดต่อกลับที่ตกค้างประมาณ 3 หมื่นสายลงได้ ช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวว่า ผู้ที่ตรวจคัดกรอง ATK ผลเป็นบวก แต่ยังไม่สามารถเข้าระบบบริการสุขภาพและมีความวิตกกังวล สามารถเดินทางไป รพ.รอบๆ กทม.ดังกล่าวได้ ซึ่ง สธ.ได้พัฒนาเพิ่มศักยภาพในการดูแล เมื่อผู้ติดเชื้อเดินทางมายัง ARI Clinic ของ รพ. เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการและความเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ก็จะแจกความรู้การดูแลตนเอง แจกยาตามอาการ แจกเบอร์โทรศัพท์ หากมีข้อสงสัยหรือสิ่งใดสามารถติดต่อ รพ.ได้ ถือว่าเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ได้รับการดูแลติดตามประเมินอาการภายใน 48 ชั่วโมง โดยยืนยันว่า รพ.ทุกแห่งใน 14 จังหวัดรอบ กทม.มีความพร้อมดูแลดำเนินการตามนโยบายเจอแจกจบ




กำลังโหลดความคิดเห็น