xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ตรวจความพร้อม "โควิด เจอแจกจบ" วันแรก รพ.ราชวิถี ย้ำรักษาที่บ้านได้ โอกาสรุนแรงขึ้นไม่ถึง 1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.ตรวจเยี่ยมดูแล "โควิด" แบบผู้ป่วยนอก "เจอแจกจบ" วันแรกที่ รพ.ราชวิถี ย้ำ ATK บวก ติดต่อผ่าน 1330 เบอร์ รพ. เพื่อเข้ารักษาแบบ OPD ได้ หรือมาคลินิกทางเดินหายใจ มีทุกแห่งใน รพ.สังกัด สธ. ย้ำไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง รักษาที่บ้านได้ โอกาสเปลี่ยนเป็นรุนแรงน้อยมากไม่ถึง 1%

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ รพ.ราชวิถี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) รพ.ราชวิถี ในการจรวจรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) แบบสมัครใจ หรือเรียกว่า "เจอแจกจบ" ซึ่งเริ่มวันนี้อย่างเป็นทางการเป็นวันแรก

นพ.เกียรติภูมิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม ว่า ที่ผ่านมา รพ.หลายแห่งมีการดำเนินการโควิดแบบผู้ป่วยนอกมาก่อนบ้างแล้ว แต่ไม่ได้มีลักษณะที่ชัดเจน ดังนั้น อธิบดีกรมการแพทย์จึงพัฒนาการดูแลแบบผู้ป่วยนอกเป็นแพคเกจ "เจอแจกจบ" ซึ่งวันนี้มาตรวจการดำเนินงานที่ รพ.ราชวิถี พบว่ามีการวางระบบเป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดความแออัด ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจ ATK มาจากที่บ้านหรือหากสงสัยมาตรวจที่ รพ.ได้ หากพบผลเป็นบวกจะมีแพทย์คอยดูแลผ่านตู้ป้องกัน ซักถามอาการผ่านระบบเครื่องเสียง เพื่อดูความเสี่ยงและอาการว่ามีมากน้อยแค่ไหน มีโรคประจำตัวหรือไม่ อาจจะมีการตรวจร่างกายหรือเอกซเรย์ปอดกรณีจำเป็น หากไม่มีความเสี่ยงก็อาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกตามความสมัครใจ ถ้าผู้ติดเชื้อเห็นด้วนก็จะส่งขึ้นไปยังศูนย์ HI/CI Center เพื่อเข้าระบบการติดตามอาการภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมรับยากลับไป

"การรับยาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามระดับอาการ คือ กลุ่มยาตามอาการ เช่น ลดไข้ ไอ เจ็บคอ ขับเสมหะ เป็นต้น ยาฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ซึ่ง รพ.ราชวิถีนำยาทั้ง 3 กลุ่มมาจ่ายผู้ป่วยแบ่งเป็น 7 สูตร ซึ่งแพทย์จะให้คิวอาร์โคดไปรับยาผ่านตู้จ่ายยาอัตโนมัติเพื่อลดการสัมผัส จึงเรียกว่า เจอแจกจบ คือ เมื่อพบเจอติดเชื้อ เราแจกความรู้แจกยา โดยมีใบความรู้ให้ในการกักตัวเองที่บ้าน (Self Isolation) ข้อแนะนำการรับประทานยาและผลข้างเคียง ส่วนจบคือลงทะเบียนอยู่ในระบบบริการหรือรับไว้ดูแลเรียบร้อยแล้วแบบครบวงจร" นพ.เกียรติภูมิกล่าว


นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า รพ.สังกัด สธ.มี ARI Clinic ทุกแห่ง ที่ผ่านมามีการจัดระบบบริการเช่นนี้อยู่แล้ว แต่ก็ได้ให้นโยบายไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ให้เตรียมพร้อมการดูแลแบบผู้ป่วยนอก และยืนยันว่าการดูแลไม่ว่ารูปแบบใด ทั้งผู้ป่วยนอก HI/CI หรือเข้ารักษาใน รพ. ทั้งหมดอยู่ในสิทธิการรักษา และเรื่องของการดูแลแบบผู้ป่วยนอกก็ไม่ได้กระทบกับงบประมาณหรือเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนในการดูแลแต่อย่างใด สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะมารับบริการที่ ARI Clinic ขอให้ยึดหลักป้องกันตนเองตลอดเวลา (Universal Prevention) ใส่หน้ากากตลอดเวลา โดยอาจใส่ 2 ชั้นหากรู้สึกว่าเราไม่สบายเพื่อป้องกันมากขึ้น รักษาระยะห่างจจากคนอื่น ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ อย่าเปิดหน้ากากในที่แออัด เพราะเรายังไม่รู้ว่ามีเชื้อหรืออาจไปรับเชื้อก็ได้ เป็นมาตรฐานสำหรับทุกคนไม่ว่าป่วยหรือไม่ป่วย แต่ดีที่สุดเมื่อตรวจเจอเราไม่อยากให้เดินทาง แต่อยากให้ติดต่อบริการสายด่วน 1330 หรือโทรศัพท์มายัง รพ.เพื่อรับการประเมินดูแล

"การตรวจรักษาโควิด เราพยายามวางแผนในการจัดการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งพิจารณาจาก 3 เรื่อง คือ ความรุนแรง ภูมิต้านทาน และกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงต่ำมาก 95% ขึ้นไปไม่มีอาการหรืออาการน้อย ต่างจากสมัยอัลฟา เดลตา ที่อยู่บ้านจากสีเขียวแล้วกลายเป็นเหลือง แต่สายพันธุ์โอมิครอน กรมการแพทย์จะสรุปตัวเลขว่าการเปลี่ยนแปลงอาการเป็นรุนแรงมีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น แต่ที่ปรากฏเป็นสีเหลืองสีแดงไม่ถึง 1% คือ 100 คน จากเขียวกลายเป็นเหลืองน้อยกว่า 1%" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า แม้จะมีอาการเพิ่มขึ้นก็สามารถติดต่อกลับมา รพ.ได้ เพราะมีการลงทะเบียนไว้แล้ว สามารถปรึกษาหรือเข้ามาระบบบริการที่สูงขึ้นได้ เป็นเรื่องของทัศนคติและรูปแบบที่จะนำไปสู่เป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่รุนแรง ซึ่งสมัยก่อนเราไม่รู้ เรารุ้จักเขาน้อยและมีความรุนแรงจริง จึงต้องรับผู้ติดเชื้อ แม้ไม่มีอาการก็ต้องเข้า รพ.ถึง 14 วันในช่วงแรก ตอนหลังก็ลดเหลือ 10 วัน


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รพ.ทุกสังกัดในพื้นที่ กทม.มีคลินิกโรคทางเดินหายใจรองรับในการดูแล แต่หากทราบว่าผล ATK เป็นบวก อยากให้โทรสายด่วน 1330 หรือเบอร์ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในเขตที่ตนเองอาศัย ซึ่งจะให้บริการคำปรึกษาทั้งทางโทรศัพท์ วิดีโอคอล และขึ้นทะเบียนรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้โดยไม่ต้องเดินทางมา ซึ่งขณะนี้มีการประสานกับทางเลขาธิการ สปสช. ในการนำระบบ Auto Screening หรือ Robot Screening มาช่วยคัดกรองอาการ ทั้งนี้ ย้ำว่าบริการผู้ป่วยนอกไม่ได้มาทดแทน HI/CI แต่เป็นบริการเสริมหรือทางเลือก สำหรับผู้ติดเชื้อที่สบายดี ไม่มีอาการ ไม่มีภาวะเสี่ยง และสมัครใจ ซึ่งจะช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องติดตามอาการทุกวัน

ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยเดินทางมารับบริการ AIR Clinic รพ.ราชวิถี ประมาณวันละ 150-250 ราย โดยวันนี้เข้ามาประมาณ 200 กว่าราย ผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่จะมีอาการทางเดินหายใจและสงสัยโควิด และมารับการตรวจ บางคนมีผลตรวจ ATK มาแล้ว บางคนยังไม่มีผลตรวจ ซึ่งจากการตรวจสัดส่วนเป็นโควิด ประมาณ 60-70% และส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำและคัดกรองว่ามีความเสี่ยงอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม สำหรับยาที่จ่าย 7 สูตร เป็นยารักษาตามอาการ 4 สูตร ซึ่งจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ กลุ่มยาฆ่าเชื้อ กลุ่มที่แพ้ยาอะม็อกซี เป็นต้น ส่วนอีก 3 สูตรจะเป็นการให้ฟ้าทะลายโจร , ยาฟาวิพิราเวียร์กลุ่มที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม และฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม








กำลังโหลดความคิดเห็น