xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เคาะปรับอัตราจ่ายค่าบริการโควิด เหมาจ่ายรถโดยสารอื่นแทนใช้รถพยาบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด สปสช. เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์อัตราจ่ายชดเชยบริการโควิดใหม่ เหมาจ่ายค่าห้องผู้ป่วยสีเขียว ปรับอัตราค่าห้องผู้ป่วยสีเหลือง-แดง หนุนหน่วยบริการร่วมกระจายชุดตรวจ ATK ให้คนไทยทุกสิทธิ เหมาจ่ายรถโดยสารอื่น-TAXI กรณีเสริม-แทนการใช้รถพยาบาล

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 7 ก.พ. มีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ แนวทางอัตราจ่าย และกำหนดวันบังคับใช้การจ่ายชดเชยบริการโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีนโยบายดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการไม่มากที่บ้านหรือชุมชน ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์และแนวทางอัตราจ่ายใหม่ มีทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ 1.การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด 19 กรณีอาการสีเขียว จะจ่ายชดเชยไม่ว่าจะเป็นการรักษาใน รพ. (ไม่จ่าย DRGs) นอก รพ. เช่น HI/CI, Hotel Isolation, รพ.สนาม และ Hospitel อัตราการเหมาจ่ายต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 ราย รวมค่าอาหาร อยู่ที่ 12,000 บาท สำหรับการรักษา 7 วันขึ้นไป และ 6,000 บาทสำหรับการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน ส่วนไม่รวมค่าอาหารจะเหมาจ่ายที่ 8,000 บาท และ 4,000 บาทตามลำดับ

2. การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการติดเชื้อโควิด 19 โดยวิธีตรวจ ATK โดยผู้เชี่ยวชาญ จะปรับอัตราจ่ายให้เหมาะสมกับราคาในปัจจุบัน และสอดรับนโยบาย ATK First และอ้างอิงราคาตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแบบ Chromatography จะจ่ายที่ 250 บาท จากเดิม 300 บาท และแบบ FIA จะจ่ายที่ 350 บาท จากเดิม 400 บาท ขณะที่การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ประเภท 2 ยีน จะปรับการจ่ายเป็น 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท ส่วนประเภท 3 ยีน จ่ายเป็น 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท

3. อัตราจ่ายค่าห้องสำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน รพ. ได้ปรับอัตราจ่ายค่าห้องที่ดูแลการรักษา โดยแบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรคเพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม ตามที่กรมการแพทย์กำหนดเป็น 5 ระดับ และปรับลดอัตราจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จากเดิมชุดละ 600 บาท เหลือ 550 บาท สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยสีเหลือง/แดง และลดจำนวนชุดที่ใช้ต่อวันของเตียงระดับอาการรุนแรง ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าไปดูผู้ป่วยครั้งละหลายคน

4. การสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test สำหรับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ โดย สปสช.จะเป็นกลไกกลางในการประสานผู้จำหน่าย โดยเฉพาะผู้จำหน่ายที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมในการกระจายชุดตรวจให้หน่วยบริการเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และจำนวนตามความต้องการของหน่วยบริการ ส่วนหน่วยบริการที่เข้าร่วม ได้แก่ ร้านยา คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นที่สนใจ จะได้รับค่าใช้จ่ายเป็นเงินในอัตรา 55 บาทต่อชุดตรวจ สำหรับเป็นค่าชุดตรวจและค่าบริการให้คำแนะนำการตรวจ ATK การอ่านผล และการปฏิบัติตัวของประชาชน

5. อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น ซึ่งเป็นการจ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่ายต่อวัน ในอัตรา 1,900 บาทต่อวัน กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น เช่น TAXI เสริมหรือทดแทนการใช้รถพยาบาล (Ambulance) ของโรงพยาบาล โดยต้องมีระบบที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ถูกหลักวิชาการ เพื่อแบ่งเบาภาระงาน และเป็นทางเลือกของหน่วยบริการในการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของแนวทางการจ่ายค่าบริการฯ กรณีการสนับสนุน ATK Self test และบริการรับ-ส่งต่อใช้รถโดยสารประเภทอื่น สปสช.จะกำหนดกลไกการจ่ายเงินรายวัน ผ่านทางธนาคารด้วยระบบ online เป็นรายวันได้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามข้อ 14(2) แห่งระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ. 2555 ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการจ่ายเงินกองทุนให้แก่หน่วยบริการ

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอการปรับอัตราจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 รายการ 1. บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว 2. บริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันโควิด-19 ด้วย ATK Professional และ RT-PCR และ 3. อัตราจ่ายค่าห้อง สำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ได้กำหนดวันบังคับใช้ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เนื่องจากจะดำเนินการพร้อมกับกองทุนประกันสุขภาพอื่น ขณะที่รายการ 4. การสนับสนุนชุดตรวจ ATK Self test สำหรับประชาชนคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และ 5. อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น เช่น TAXI จะมีผลทันทีหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น