xs
xsm
sm
md
lg

“สาธิต” หารือ “อนุทิน” แล้ว ยังไม่สรุปเลื่อนปลด “โควิด” พ้นฉุกเฉินเป็น 1 เม.ย.ต้องหารือเพิ่ม ดูผู้ติดเชื้อ ใช้เวลาทำความเข้าใจก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สาธิต” เผย หารือ “อนุทิน” แล้ว ขอเลื่อนโควิดพ้นฉุกเฉินไป 1 เม.ย. แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป มอบตนหารือเพิ่มกับปลัด สธ. กรมการแพทย์ สบส. และ สปสช. ถึงข้อดีข้อเสียการประกาศ ผลกระทบ เรื่องประกันภัย โควิดมีโรคร่วมที่ต้องใช้เตียง และจำนวนผู้ติดเชื้อว่าต้องขยายหรือไม่ รวมถึงสื่อสารทำความเข้าใจ ปชช. ว่า ยกเลิกแล้วต้องไปตามสิทธิ หากไปเอกชนต้องจ่ายเงินเอง

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่โรงแรงพูลแมน ซอยรางน้ำ กทม. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเสนอให้เลื่อนปลดโรคโควิด-19 จากโรคฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) จากวันที่ 1 มี.ค.เป็นวันที่ 1 เม.ย. ว่า ขณะนี้ตนได้หารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่ง รมว.สธ.มอบหมายให้ตนประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หารือถึงข้อดีข้อเสียว่าจะประกาศในเรื่องนี้อย่างไร เพราะจะมีผลกระทบกับผู้ใช้บริการ

“ย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศปลดโควิดจากโรคฉุกเฉินวิกฤต อยู่ระหว่างการร่างประกาศ ซึ่งเดิมสถานการณ์ยังมีผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่หลังจากตรุษจีนทิศทางติดเชื้อมากขึ้น จึงกังวลเรื่องการสื่อสารและมีปัญหาเรื่องการตีความประกันภัยที่ยังไม่จบ เพราะฉะนั้น การสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจเป็นหัวใจสำคัญ เพราะถ้าประชาชนไม่สนใจไม่ได้มาดูข้อมูล แต่เมื่อไปใช้บริการแล้วถึงมารับทราบก็อาจได้รับผลกระทบ ต้องไปจ่ายเงินเอง ก็กระทบกลับมาที่รัฐบาลได้ จึงต้องใช้เวลาในการให้ข้อมูลว่า เมื่อประกาศยกเลิก UCEP โควิด เขาต้องไปตามสิทธิ ถ้าไปเอกชนพูดง่ายๆ ก็ต้องจ่ายเงิน” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า นอกจากนี้ มีอีกประเด็นว่าแม้อัตราการครองเตียงยังรับได้ แต่โควิดที่มีโรคเก่าร่วมอยู่ เช่น มะเร็ง แม้ไม่มีอาการก็ต้องการเตียงที่มีศักยภาพ จึงต้องคำนวณการใช้เตียงเพิ่มจากส่วนนี้ ดังนั้น การมีติดเชื้อที่สูงขึ้น จึงต้องใช้ศักยภาพของ รพ.เอกชนเหมือนกัน ขณะที่ กทม.คนจะเข้าใจการเข้าระบบ Home Isolation (HI) ได้มาก แต่บางคนอยู่อาคารชุด คอนโด แต่นิติบุคคลยังไม่เข้าใจ ไม่ให้กักตัวก็อยากไปใช้บริการ รพ. แต่หากปลดออกจาก UCEP รพ.เอกชนก็อาจปิดฮอสปิเทลลดลง ถ้ามีก็ยังเป็นทางเลือกให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้ในทุกทางเลือกที่ต้องการและไม่ต้องจ่ายเงิน ก็ต้องมาประเมินร่วมกัน ซึ่งถ้ามีข้อสรุปก็จะให้รองนายกฯ สื่อสารกับประชาชน

เมื่อถามว่า หารือแล้วสรุปว่าจะเลื่อนหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ยังต้องหารือ เพราะยังไม่ประกาศ ประกาศยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งการขยายไปวันที่ 1 เม.ย.เป็นข้อเสนอเดิมของตน แต่ยังไม่ได้กำหนดออกมา ขึ้นกับเคสด้วย เพราะตอนนี้เคสสูงขึ้น ต้องดูว่าจะขยายไปหรือไม่กับสถานการณ์แบบนี้

ถามว่า เมื่อออกจาก UCEP ยังใช้ระบบ 1330 เข้า Home Isolation ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิมหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ยังได้เหมือนเดิม เมื่อติดต่อเข้าระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาประเมินอาการและนัดหมายส่งอุปกรณ์และอาหาร แม้ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเยอะขึ้นแต่ระบบรันได้ดี เพราะ UCEP โควิดเกี่ยวกับ การเข้า รพ.เอกชน เมื่อเกิดฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยว่าวิกฤตจริงๆ แต่มีช่องว่างระหว่างฉุกเฉินวิกฤตและติดเชื้อที่ต้องไปใช้บริการ ก็ต้องระวังตรงนี้

ส่วนการอยู่ร่วมกับโควิดนั้น สธ.และรัฐบาลมีการประเมิน เรามีเกณฑ์ทำให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งแต่ละประเทศมีตัวเลขแตกต่างกันไป ทั้งฉีดวัคซีน จำนวนติดเชื้อ นโยบายรัฐบาล ตอนนี้เราต้องฉีดเข็มสามให้มากที่สุด รวมถึงทำมาตรการ VUCA คู่ขนาน ซึ่งจะป้องกันติดเชื้อได้ดี ลดการเสียชีวิตและป่วยรุนแรง ถ้าบูสเตอร์เข็มสามได้มาก ก็อาจจะมีการดำเนินการค่อยๆ ดาวน์ให้เป็นโรคประจำถิ่นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น