xs
xsm
sm
md
lg

จ่อปลดโควิดสิทธิ "ยูเซป" เข้าระบบปกติ หากโรครุนแรงลดลง สปสช.ย้ำไม่ถูกเรียกเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.แจง "โควิด" ลดความรุนแรงลง อาจปลดจากสิทธิฉุกเฉินยูเซป เข้าระบบเบิกจ่ายตามปกติ ย้ำการรักษาพยาบาลยังเหมือนเดิม เพราะยังเป็นโรคติดต่ออันตราย เผยทำงบปี 66 เผื่อรองรับกรณีเบิกจ่ายตามปกติแล้ว ย้ำช่วงเปลี่ยนผ่านต้องไม่ทำให้เกิดการเข้าไม่ถึง หรือถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการปรับการจ่ายค่ารักษาโควิด จากระบบฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) มาเป็นระบบปกติ ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้แจ้งเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการถึงทิศทางในอนาคตที่โควิดจะมีความรุนแรงลดลง หรือจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อรุนแรงลดลงแล้วน่าจะไม่เกิดภาวะฉุกเฉินวิกฤต ดังนั้นจึงอาจจะไม่มีระบบฉุกเฉินวิกฤตจากโควิดแล้ว แต่ในแง่ของการรักษาพยาบาล สปสช.จะต้องเข้าไปดูแลอยู่แล้ว ในลักษณะการจัดระบบบริการภาครัฐ ดังนั้น ยืนยันว่าประชาชนยังได้รับบริการ เพราะโรคโควิดในทางกฎหมายยังเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

“โรคโควิดเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ซึ่ง สบส.ดู พ.ร.บ.สถานพยาบาล กรมควบคุมโรคดู พ.ร.บ.โรคติดต่อ เมื่อ สบส.บอกว่าจะยกเลิกคำว่าฉุกเฉินวิกฤตจากโควิดออกจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่ยังไม่ได้ยกเลิกการเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ รัฐก็ยังต้องเข้าไปดูแล และแม้จะไม่มีประกาศอะไรเลย ถ้าประชาชนเจ็บป่วยก็ต้องดูแล ขึ้นกับว่าจะดูแลแบบไหน กติกาเป็นอย่างไร” นพ.จเด็จ กล่าว

ถามว่าหากโควิดเข้าระบบสุขภาพปกติ สปสช.จะดูแลอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.เตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว โดยการทำงบประมาณปี 2566 ก็บรรจุเรื่องนี้ไว้หากเข้าสู่ระบบปกติ งบประมาณอาจจะใช้งบประมาณพิเศษลดลง แล้วใช้งบปกติแทน หากต้องนอน รพ.ก็จะคิดตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ถ้าไม่ได้แอดมิทก็มีระบบการเหมาจ่ายรายหัว ถ้าต้องตรวจพิเศษก็จะมีค่าตรวจ ATK ค่าตรวจ RT-PCR เป็นต้น เพียงแต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เข้าสู่โหมดปกติแล้ว ความต้องการตรงนี้จะลดลง แต่ก็ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกไป เผื่อสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการกลายพันธุ์รุนแรง แต่เราก็เตรียมพร้อมเอาไว้ โดยหลักการคือต้องรอ สธ.ออกหลักเกณฑ์มาก่อน เพราะเป็นผู้ถือกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่ สปสช. มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันว่าทุกโรคต้องได้รับการรักษา

เมื่อถามว่าจะมีช่องว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากฉุกเฉินวิกฤตมาเป็นระบบปกติ ทำให้ประชาชนอาจต้องจ่ายเงินเองหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องทำให้ไม่มีช่องว่างที่จะเกิดปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หรือเข้าไม่ถึงบริการโดยสะดวก ก็เป็นความท้าทายเราต้องทำให้ไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้ความพยายาม เพราะบางครั้งประชาชนคุ้นชิน โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ป่วยก็เข้า รพ.เอกชนเลย แต่หากประกาศว่าไม่เป็นฉุกเฉิน ก็ต้องมาดูว่าอยูในระบบหลักประกันหรือไม่ แล้วจัดระบบรองรับ เราก็มั่นใจ มีการขอความร่วมมือจากกระทรวง หน่วยงาน หน่วยบริการให้ช่วยดูแล้วเราจะตามไปจ่ายเงินให้


กำลังโหลดความคิดเห็น