xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" เผย 1 มี.ค.ปรับ "โควิด" สิทธิฉุกเฉินเป็นเบิกจ่ายปกติ ไปเอกชนต้องจ่ายเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" เผยปรับระบบรักษา "โควิด" จากสิทธิฉุกเฉิน มาเป็นเบิกจ่ายตามสิทธิทั่วไป เริ่ม 1 มี.ค.นี้ ยันไม่กระทบประชาชน รัฐยังออกค่าใช้จ่าย เว้นไปเข้า รพ.เอกชนหรือรับบริการนอกเหนือจากกำหนด ไม่ได้เสนอมาตรการ ศบค.เพิ่ม ย้ำต้องโฟกัสป่วยหนักและดับมากกว่าติดเชื้อ ด้านปลัด สธ.เผยเตรียมพร้อมทุกด้าน ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ห่วงสูงอายุเสียชีวิตจากโควิดสูง ต้องเร่งฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า สธ.เตรียมความพร้อมระบบสถานพยาบาล อุปกรณ์ต่างๆ ดูแลผู้เจ็บป่วยโควิดเต็มที่ แต่เวลาเราควบคุมสถานการณ์โรคระบาด ในบางช่วงเราก็ต้องไปดูเรื่องการติดเชื้อ ถ้าการเชื้อยังมีความรุนแรงอยู่ เมื่อมีการกระจายวัคซีน ใช้ระบบ HI มีความพร้อมของสถานพยาบาล การที่จะไปโฟกัสจำนวนผู้ติดเชื้อ ก็ต้องเปลี่ยนมาโฟกัสตรงการควบคุมผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 80% ของทุกวัน คือ ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงสูง มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน จึงต้องมารับวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้า รับวัคซีน 2 เข็มไปแล้ว ตอนนี้เรามีบูสเตอร์โดสขอให้มารับกันต่อไป

"ถ้าเทียบสถานการณ์ปีที่แล้วกับปีนี้ สิ่งที่ต่างกันคือ ปีที่แล้วไม่มีวัคซีน พอมีการติดเชื้อระบาดขึ้นเยอะก็จะมีผู้ป่วยอาการหนักเยอะขึ้น เสียชีวิตมาก แต่พอได้รับวัคซีน และมี HI เพื่อเปิดเตียงให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้สถานพยาบาลจริงๆ ก็ทำให้ประคับประคองสถานการณ์ได้" นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนักวิชาการออกมาคาดการณ์ว่าจะมีการติดเชื้อถึงวันละ 4 หมื่นราย ว่า สธ.ต้องเตรียมทุกเรื่อง ทั้งเตรียมสถานพยาบาล การควบคุมโรคก็มี VUCA โดยเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งขณะนี้มากกว่า 20% แล้ว เน้นป้องกันตนเองสูงสุด ก็ได้รับความร่วมมือใส่หน้ากากกันทุกคน อาจจะมีบางกลุ่มที่ขาดความรับผิดชอบบ้าง ไปกินดื่มสุราแล้วเกิดคลัสเตอร์ ส่วน COVID Free Setting ขณะนี้มีมาก ขอความร่วมมือสถานประกอบการทุกแห่ง หากทำได้จะช่วยให้สถานที่ปลอดภัย และตรวจ ATK เป็นระยะ ซึ่งมีในตลาดมากเพียงพอ ถ้าเราช่วยกันดำเนินมาตรการตรงนี้ตัวเลขการติดเชื้อก็ลดลง ซึ่งถ้าเราวางแผนให้เข้าไปอยู่ในโรคประจำถิ่น การรายงานการติดเชื้อก็ไม่มีความจำเป็นว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

"ความหมายของระบบสาธารณสุขต่อการติดเชื้อ คือ การดูแลผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งเราเคยมีผู้ป่วยหนักถึงวันละ 6,000 กว่าราย อยู่ไอซียูกว่า 1,200 คน ตอนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักกว่า 500 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 110 คน ต่ำกว่าสมัยก่อนถึง 10 เท่า จะเห็นได้ว่า สธ.มีระบบรองรับ เตียงใน รพ.เราเหลืออยู่กว่า 70% ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทำการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชน (HI/CI) ได้ด้วยตนเองจะดีมาก" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ตัวเลขผู้ที่มีอาการรุนแรงมีน้อย 3-4 % เสียชีวิตต่ำกว่า 0.2% ก็เป็นช่วงอายุด้วย เราพบว่าช่วงอายุก่อน 60 ปี เสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% ถ้าเกิน 60 ปีขึ้นไปก็จะสูงขึ้นตามช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วง 70 กว่าปีขึ้นไปจะเสียชีวิตมาก อยากให้ลูกหลานช่วยกันพาคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมาร่วมใจกันฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกัน แม้ป้องกันการติดไม่ได้ 100% แต่ป้องกันการป่วยหนักและการตายได้ 98-99%

เมื่อถามว่าการประชุม ศบค.พรุ่งนี้จะมีการเสนอเพิ่มอะไรหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้เสนออะไร แต่ต้องมีการหารือแน่นอน เพราะวันนี้ติดเชื้อก็เกือบ 15,000 ราย ก็ต้องมีการพูดคุย ถ้าเทียบก่อนสิ้นปีถึงปัจจุบัน เวลาเดือนครึ่งเพิ่มขึ้นมาประมาณ 5 เท่า แต่ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังเท่าเดิมก็ถือว่าลดลงไปเยอะ แต่ สธ.เรามองที่คน ไม่ได้มองร้อยละ ก็ทำทุกอย่างขอให้รักษาชีวิตคนได้ ขอให้คนไม่เจ็บป่วยอาการหนักได้ นี่คือเป้าหมายที่สำคัญของ สธ.

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการปรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด จากการกำหนดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (UCEP COVID) มาเป็นการดูแลตามระบบปกติเบิกจ่ายตามสิทธิ นายอนุทิน กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้จัดทำรายละเอียดเข้ามาแล้ว คาดว่าจะลงนามได้เร็วๆ นี้ และเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป นอกจากนี้ จะมีการปรับอัตราค่าตรวจ RT- PCR สำหรับการตรวจ 2 ยีน อัตรา 900 บาท และตรวจ 3 ยีน อัตราค่าตรวจ 1,100 บาท ปรับอัตราการจ่ายค่าตรวจ ATK ชนิดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) ทั้ง 2 ชนิด ในอัตรา 250 บาท และ 350 บาท รวมถึงปรับค่าใช้จ่ายการเข้ารับการดูแลในฮอสปิเทลเป็น 1,000 บาทต่อวัน

"ยืนยันว่าการปรับระบบไม่ได้เกิดผลกระทบต่อประชาชน รัฐยังให้การดูแลตามสิทธิสุขภาพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ รัฐเป็นผู้จ่ายให้ ยกเว้นประชาชนต้องการเข้ารับบริการที่นอกเหนือจากนี้ เข้ารพ.เอกชนก็จะต้องจ่ายเอง" นายอนุทินกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น