xs
xsm
sm
md
lg

“สาธิต” จ่อคุย “อนุทิน” เลื่อนปลด “โควิด” พ้นฉุกเฉินเป็น 1 เม.ย.เหตุยังติดเชื้อสูง ต้องใช้เวลาสื่อสารให้คนเข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สาธิต” เตรียมหารือ “อนุทิน” เลื่อนปลด “โควิด” พ้นโรคฉุกเฉิน จาก 1 มี.ค. เป็น 1 เม.ย. เหตุการติดเชื้อยังเพิ่ม ต้องใช้เวลาสื่อสารประชาชน ทั้งต้องหารือกรมการแพทย์ กรณีป่วยโควิดมีโรคร่วม ด้าน สปสช.ยันหลังปลดแล้วหากมีอาการฉุกเฉินยังเข้าเอกชนใกล้บ้านได้ สพฉ.มีเกณฑ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว ฮอสปิเทลยังเข้าได้ หาก รพ.ยังมีบริการ

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีจะหารือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.ที่จะขอให้เลื่อนการประกาศปลด “โควิด” จากโรคฉุกเฉินช่วงวันที่ 1 มี.ค. เป็น วันที่ 1 เม.ย. ว่า ขณะนี้ด้วยการระบาดโอมิครอนและการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ทำให้เราพบการติดเชื้อในช่วงขาขึ้น ยังเห็นตัวเลขหลักหมื่นราย หากมีการปรับเรื่องระบบสิทธิรักษา จำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อสื่อสารความเข้าใจกับประชาชน ทั้งยังต้องหารือกับกรมการแพทย์ด้วย เพราะมีประเด็นเพิ่มว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง โรคปอด ที่มีความจำเป็นต้องใช้ศักยภาพเตียงมากขึ้น โดยเราต้องรวมเตียงจาก รพ.เอกชนมารวมกัน

“ขอชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ สามารถรักษาที่บ้านได้ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระบบ 1330 ที่ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว โดยหลายคนก็อยากอยู่ที่บ้านมากกว่าที่ต้องไปอยู่ รพ.หรือในฮอสปิเทล ดังนั้น เราต้องคงระบบนี้ไว้” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้เราพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด 80-90% แทบจะไม่มีอาการ ยืนยันว่าหากโควิดจะออกจากโรคฉุกเฉินหรือยูเซปแล้ว สปสช.ยังให้บริการสายด่วน 1330 ฟรีเหมือนเดิม ผู้ติดเชื้อรักษาที่บ้านตามระบบ Home Isolation ให้ความมั่นใจว่าเราต้องใช้ระบบ HI และศูนย์พักคอยในชุมชน(Community Isolation) เป็นฐาน โดยอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าการรักษาที่บ้านตามระบบ 1330 ยังฟรีและใช้ได้

ส่วนวันที่ 1 มี.ค.นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายค่ารักษาโควิดของหน่วยบริการ โดยกลุ่มสีเขียวทั้งในฮอสปิเทลและ Home Isolation จ่ายให้อัตราวันละ 1,000 บาทต่อคน เฉลี่ยตามการรักษา 10 วัน รวมค่ายาและอื่นๆ จะตกรายละ 15,000 บาท โดยเราจะเรียก รพ.เอกชนทั้งในและนอกระบบมาชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน

เมื่อถามว่า หากออกจาก UCEP แต่มีอาการวิกฤตก็ยังเข้า รพ.ที่ไหนก็ได้ จะต้องหารือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กับ รพ.เอกชน ในการปรับนิยามหรือไม่ เพราะโควิดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเฉียบพลัน นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรายึดเกณฑ์ผู้ป่วยวิกฤตที่ทาง สพฉ. กำหนด เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูง หมดสติ ฯลฯ นั่นเป็นฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งตามหลัก รพ.เอกชน จะประเมินร่วมกับ สพฉ.

เมื่อถามว่า กรณีผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองอยู่อาการระดับใดแล้วไป รพ.เอกชนนอกระบบ จะมีการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในช่วงแรกนี้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรากำลังจะดำเนินการ แต่เดิมเราทำเช่นนี้อยู่แล้ว ซึ่งต้องเรียนว่า รพ.เอกชนนอกระบบมีเพียง 100 กว่าแห่ง ดังนั้น ต้องหารือร่วมกัน เพราะประชาชนหลายคนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องระบบของหน่วยบริการ เราก็อาจจะมีการส่งต่อผู้ป่วยต่อไป

เมื่อถามว่า หากปลดออกจาก UCEP แล้ว ยังต้องมีฮอสปิเทลหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระบบของหน่วยบริการว่าจะดูแลผู้ติดเชื้อในรูปแบบฮอสปิเทล หรือ HI เช่น รพ.ที่ท่านมีสิทธิรักษา มีบริการฮอสปิเทล ก็ยังสามารถเข้าได้ แต่ถ้ามีเพียงระบบ HI เมื่อท่านไปรักษาก็ต้องเข้าระบบรักษาที่บ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น