สปสช.แจงหากถอน“โควิด” จากภาวะฉุกเฉินวิกฤต ยังรักษาฟรี หากมา รพ.ตามสิทธิสุขภาพที่มี เหตุ “โอมิครอน” ไม่รุนแรง 80-90% รักษาที่บ้านได้ หากไป รพ.เอกชนนอกระบบต้องจ่ายเงินเอง กองทุนสุขภาพไม่ตามจ่าย เว้นมีอาการฉุกเฉิน เช่น ไข้สูง หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการเตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 จากภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (UCEP) มาเป็นการรักษาตามสิทธิของแต่ละบุคคล วันที่ 1 มี.ค. นี้ ว่า การออกประกาศเป็นอำนาจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปลดโควิดออกจากภาวะฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่หากมีการประกาศออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษา ดังนั้น การใช้คำว่า “หมดสิทธิรักษาฟรี” จึงไม่ถูกต้อง ยืนยันว่า ยังรักษาฟรีและรักษาฟรีทุกโรคไม่เฉพาะแค่โควิด
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจหลักการระบบสาธารณสุขของไทยก่อน คือ 1. เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และ 2. หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ซึ่งกรณีของโควิดตั้งแต่ปี 2563 สธ.ประกาศว่า โรคโควิด-19 ถือเป็นเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงแรกจนถึงช่วงสายพันธุ์เดลตา มีความกังวลว่าเมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอด ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้การระบาด คือ สายพันธุ์โอมิครอน ผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ รักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไป รพ. ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้า รพ.ที่ใกล้ที่สุด ดังนั้น หากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็ไปรับการรักษาได้ตามระบบปกติ เช่น สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ก็ไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม
“ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า กรณีเข้ารักษาใน รพ.เอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสุขภาพใดระบบสุขภาพหนึ่ง ในอดีตประชาชนสามารถไปได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเมื่อโรคโควิดถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่า ผู้ป่วยไปรักษาใน รพ.ประเภทนี้ได้ แต่หากไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ขอแนะนำให้ไปรักษาใน รพ.ที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไป รพ.เอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่างๆ จะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้
“การจะเข้ารับบริการใน รพ.เอกชน ให้ดูอาการเป็นหลัก หากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น ไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้า รพ.เอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตนั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆ จะตามไปดูแลให้ สรุปถ้าป่วยด้วยโควิดหากเข้ารักษาตามสิทธิสุขภาพของตนก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม แต่หากไป รพ.ที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน กองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแลแล้ว” นพ.จเด็จ กล่าว