xs
xsm
sm
md
lg

หมอชี้ "โควิด" ไม่มีอาการรักษาที่บ้าน โอกาสรุนแรงน้อย เน้นให้ยาต้านไวรัสสมเหตุผล หวั่นใช้มาก ดื้อยาจนเป็นแป้งธรรมดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ชี้แนวทางรักษาโควิดฉบับใหม่ ช่วยหมอตัดสินใจได้ให้รักษาที่บ้าน HI/CI หรือ รพ. และควรให้ยาต้านไวรัสหรือไม่ เน้นให้ยาสมเหตุสมผล ลดเสี่ยงผลข้างเคียง หวั่นใช้มากทำดื้อยาสุดท้ายยาหมดฤทธิ์ เป็นแค่แป้งธรรมดา ระบุเน้นกลุ่มเสี่ยง แม้อาการน้อยให้เข้า รพ. ให้ยาต้านไวรัส ป้องกันอาการรุนแรงตั้งแต่แรก ส่วนไม่มีอาการไม่มีความเสี่ยงรักษาที่บ้าน โอกาสอาการรุนแรงขึ้นน้อยมาก

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ใน รพ. ฉบับวันที่ 1 มี.ค. 2565 ที่มีเรื่องของการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ว่า ผู้ที่มีผลการตรวจ ATK เป็นบวก สามารถเข้ารับการประเมินอาการผ่าน 1330 หรือมารับบริการแบบผู้ป่วยนอกที่คลินิกทางเดินหายใจของ รพ.ได้ ซึ่งจะมีการประเมินอาการ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการและสบายดี ไม่มีความเสี่ยง สามารถรักษาตัวที่บ้านแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักรักษา หรือเข้าระบบ Home Isolation หรือสถานที่แยกกักต่างๆ ที่รัฐจัดให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย และไม่มีความเสี่ยง ให้แพทย์พิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ 3.กลุ่มที่มีอาการน้อย แต่มีความเสี่ยงมีโรคร่วม เราให้แอดมิทเข้า รพ. และ 4.กลุ่มที่มีอาการรุนแรงรับเข้าไว้รักษาใน รพ.

"แต่ก่อนเราให้แอดมิทหมด เพราะไม่อยากให้ไปแพร่เชื้อ แต่ตอนนี้เรารู้ว่าเชื้อไปอยู่ทุกที่ อาจจะมีใครติดเชื้ออยู่ เพราะเชื้อโอมิครอนติดง่าย ดังนั้น กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยงเราให้อยู่บ้านได้ ซึ่งจากการรักษาที่บ้านที่ผ่านมาพบว่าแทบไม่มีอาการเปลี่ยนไปรุนแรงขึ้นเลย ส่วนใหญ่รักษาหายเอง ส่วนกลุ่มที่อาการน้อยก็จริง แต่มีความเสี่ยงโรครุนแรงเราก็ให้เข้า รพ.ตั้งแต่ต้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ทั้งนี้ แนวทางต่างๆ ที่กำหนดไว้มีความยืดหยุ่น ให้เป็นวิจารณญาณของแพทย์หน้างาน คนไข้ซึม อาการไม่มาก อาจจะให้เข้า รพ.ก็ได้" นพ.ทวีกล่าว

ถามว่าแนวทางเวชปฏิบัติล่าสุดนี้ คือ พยายามเอาคนที่มีความเสี่ยงเข้า รพ.ตั้งแต่แรก นพ.ทว๊กล่าวว่า ใช่ เราพยายามตัดกลุ่มนี้เข้า รพ.ไป แม้อาการน้อย แต่มีโอกาสรุนแรงเราก็ตัดเข้าไป

ถามถึงเหตุผลในการเพิ่มบริการผู้ติดเชื้อโควิดแบบ OPD นพ.ทวีกล่าวว่า หากให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเข้าระบบ รพ.ทั้งหมด ระบบก็อาจรับไม่ไหว ซึ่งเราต้องสำรองเตียงไว้ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง ซึ่งทางต่างชาติก็มีแนวทางเช่นนี้ หากรับหมดก็แย่ จะไม่มีเตียงมาดูแลคนอาการหนัก จึงเป็นเหตุผลของแนวทางปัจจุบัน เราเปลี่ยนเพื่อปรับให้เหมาะกับสถานการณ์โลกและเชื้อ ถามว่าตอนนี้เราคุมเชื้อหรือเชื้อคุมเรา เชื้อค่อนข้างคุมเรา หากสมมติว่าโอมิครอนมาตอนที่เรายังไม่มีการฉีดวัคซีน ก็อาจจะแรงขึ้น แต่น้อยกว่าเดลต แต่จะแรงกว่าตอนนี้แน่นอน

ถามว่าการจัดกลุ่มผู้ติดเชื้อเพื่อแยกการรักษาจะช่วยอย่างไร นพ.ทวีกล่าวว่า อย่างแรกคือช่วยแพทย์และบุคลากรหน้างานตัดสินใจในการรักษาแบบ HI/CI หรือ OPD เคส หรือตัดสินใจเอาเข้า รพ. 2.ช่วยตัดสินใจเรื่องการให้ยาต้านไวรัส เป็นตัวสำคัญที่สุด ซึ่งยาต้านไวรัสเรามีพอ ตอนนี้ก็สั่งซื้อสารตั้งต้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาผลิตเป็นเม็ด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะต้องเอาคนเข้ารพ.และต้องกินทุกคนหรือไม่ การกินทุกคนไม่ว่ายาอะไรก็ตามจะเห็นผลข้างเคียงตามมา

"ทุกวันนี้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 2 ล้านเม็ด ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการสิ้นเปลือง แต่จะต้องให้ยาอย่างเหมาะสม ซึ่งตอนนี้มีการแจกยาออกไปจำนวนมาก จนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกังวล มองผลดีผลเสียมีอะไรบ้าง และยาต้านไวรัสทุกตัวเป็นแค่การยับยั้งเท่านั้น ไม่ใช่ยาฆ่าไวรัส แต่ร่างกายจะเป็นตัวฆ่าเชื้อเอง ซึ่งการให้ยาควรดูจากอาการรุนแรงหรือไม่ ถ้าแรงก็ต้องให้ แต่ถ้าไม่มีอาการหรือไม่แรงก็ยับยั้งการให้ยาไว้ก่อน แล้วมาดูว่าเสี่ยงสูงไหม เช่น อายุ 75 ปีมีเบาหวาน หัวใจ แม้จะมีอาการเล็กน้อย เช่น ไอค่อกแค่ก แต่บางทีแพทย์อาจจะให้ยาต้าน หรือให้ไปนอน รพ. แต่ผู้ติดเชื้อก็อาจเลอืกได้ว่าจะนอนหรือไม่นอน แต่หากไม่นอนก็จะมีช่องทางติดต่อกลับหากอาการเปลี่ยนแปลง เช่น หอบ ต้องนอน รพ." นพ.ทวีกล่าว

ถามต่อว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกังวลเรื่องการดื้อยาฟาวิพิราเวียร์ด้วยหรือไม่ นพ.ทวีกล่าวว่า แน่นอน ให้วันละ 2 ล้านเม็ด เดือนละ 60 ล้านเม็ด เชื้อสัมผัสยาบ่อยๆ เรื่องทฤษฎีการดื้อยามีอยู่แล้วก็เป็นไปได้ เราจึงกังวล สมมติมีการดื้อยาขึ้นมาจริงๆ ดื้อมากๆ ที่ให้กินยาก็เท่ากับเป็นแป้ง ไม่มีฤทธิ์เลย จึงมีแนวทางดังกล่าวออกมา เพื่อให้มีการให้ยาอย่างสมเหตุสมผลมากที่สุด เรื่องแนวทางดังกล่าวที่มีเรื่องการให้ยาต้านไวรัสจึงมุ่งไปสู่แนวทางการใช้ยาสมเหตุสมผลมากที่สุด

ถามอีกว่า ผลข้างเคียงที่กังวลในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.ทวีกล่าวว่า เราพบคลื่นไส้อาเจียนเยอะ และยาต่างๆ หากใช้มากๆ อาจจะมีผลข้างเคียงออกมาเพิ่มขึ้น และที่เราเจอแล้วในสัตว์ทดลองคือมีผลต่อตัวอ่อน อาจทำให้ตัวอ่อนพิการ เราจึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ จึงต้องไปใช้ยาเรมดิซีเวียร์ ซึ่งยาที่ลงท้ายด้วยเวียร์มีผลต่อตัวอ่อนแทบทั้งสิ้น ยกเว้นเรมดิซีเวียร์ที่มีการศึกษาวิจัยแล้ว ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์มาสะสมระยะยาว แต่จะกระทบเลย เช่น ตาสีฟ้า คลื่นไส้อาเจียน ส่วนกรณีกินยาฟาวิพิราเวียร์แล้วปัสสาวะเป็นเลือดนั้น ต้องไปตรวจก่อน เพระาปัสสาวะเป็นเลือดมาจากหลายสาเหตุ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไวรัสบางตัวทำให้เลือดออกในกระเพาะปัสสาวะได้


กำลังโหลดความคิดเห็น