xs
xsm
sm
md
lg

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ออกคำแนะนำดูแล "โควิด" ในเด็กเบื้องต้น ไม่มีอาการดูแลแบบผู้ป่วยนอกได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ออกคำแนะนำการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในเด็กฉบับเบื้องต้น ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย ดูแลแบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องเข้า HI หรือ รพ. เว้นมีอาการปอดอักเสบ มีข้อบ่งชี้อื่นในการนอน รพ. ให้มารับการรักษษที่ รพ. ให้แพทย์จ่ายยาตามอาการ

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำฉบับเบื้องต้นการดูแลรักษาโควิด 19 ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า15 ปี ฉบับที่ 1/2565 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 โดยระบุว่า การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การติดเชื้อสะสมในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2564 - 16 ก.พ. 2565 สูงถึง 77,635 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่มอายุ แต่เชื้อโอมิครอนพบอาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา และจากการติดตามผู้ป่วยเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรืออาการน้อย สามารถให้การดูแลที่บ้านได้ โดยให้การรักษาแบบประกับประคอง ส่วนน้อยมากที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสหรือต้องนอน รพ.

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จึงพิจารณาร่างแนวทางการรักษาโควิด 19 ในเด็กให้เหมาะกับการระบาดในขณะนี้ ซึ่งแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่สามารถรักษาโดยพักอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก โดยคำแนะนำนี้เป็นฉบับเบื้องต้น ซึ่งจะมีการออกคำแนะนำฉบับสมบูรณ์ต่อไป โดยผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก และผู้ติดเชื้อยืนยัน ทั้งที่มีอาการและไม่แสดงอาการ ให้ใช้ยาในการรักษาจำเพาะดังนี้

1.ผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่แนะนำยาต้านไวร้ส สามารถดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านได้ อาจไม่จำเป็นต้องเข้าระบบบริการ Home isolation หรือรับการรักษาใน รพ.

2.ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าระบบบริการ Home isolation หรีอรับการรักษาใน รพ. แต่อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น กรณีที่ไข้สูง 39
องศาเซลเชียสต่อเนื่องกันมากกว่า 1 วัน อ่อนเพลีย ซึม อาเจียน ท้องเสีย รับประทานอาหารได้น้อย เป็นต้น

3.ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย ปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี และมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด 19 อย่างรุนแรง แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน อาจให้นานกว่านี้ได้ หากอาการยังมาก โดยแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยจัดให้มีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้ารับการประเมิน หรือรับการรักษาในโรงพยาบาลหากอาการเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลง

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการปอดอักเสบปานกลางหรือรุนแรง ได้แก่ หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกำหนดอายุ (60 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ <2 เดือน, 50 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 2-12 เดือน, 40 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 1-5 ปี และ 30 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ >5 ปี) แนะนำให้เข้ารับการรักษาใน รพ. แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5-10 วัน พิจารณาให้เรมเดซิเวียร์หากเป็นมาไม่เกิน 10 วัน และมีปอดอักเสบที่ต้องการการรักษาด้วยออกซิเจน หรือมีอาการรุนแรง แนะนำให้ corticosteroid

และ 5. ผู้ป่วยยืนยันที่มีข้อบ่งชี้ในการนอน รพ.อื่นๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ แนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5-10 วัน เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือไม่มีข้อบ่งชี้ในการนอน รพ. สามารถรักษาต่อแบบผู้ป่วยนอก โดยการกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ในระหว่างที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการกักตัวอยู่ที่บ้านตาม
ระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ

หมายเหตุ : ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนำการใช้ ฟ้าทะลายโจร, Ivermectin, Molnupiravir, และ Paxlovid เพื่อการรักษา COVID-19 ในเด็ก

*กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กที่มีโรคร่วม หรือความผิดปกติ ดังต่อไปนี้
1. โรคอ้วน (น้ำหนักเทียบกับความสูง (weight for height) มากกว่า +3 SD)
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า










กำลังโหลดความคิดเห็น