xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มพรุ่งนี้ ดูแล "โควิด" แบบผู้ป่วยนอก กลุ่มไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องจ่ายยาฟาวิฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ย้ำ 1 มี.ค. เริ่มดูแลโควิดแบบผู้ป่วยนอก ชี้เป็นการเพิ่มจากระบบปกติ ใช้ในกลุ่มไม่มีอาการ อาการน้อย และไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่อาจให้ฟ้าทะลายโจรได้ เหตุโอมิครอน 90% ไม่มีอาการ อาการน้อยมาก ส่วน HI/CI เน้นกลุ่มอาการน้อย-ปานกลาง หากอาการรุนแรงให้เข้า รพ. ส่วนกลุ่มอาการไม่รุนแรง แต่มีโรคร่วม แพทย์อาจจ่ายฟาวิพิราเวียร์ตามดุลยพินิจ

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค. สธ.ได้ปรับและเพิ่มบริการการตรวจผู้ป่วยโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอก (โอพีดี) ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาลหรือ HI CI หากสามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะมีการให้ยา นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว รายที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจให้รับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาดูแลรักษาตามอาการ ดังนั้น สธ.พยายามบริหารการรักษาให้สมดุล และเหมาะสมประชาชนมากที่สุด ซึ่งผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีอาการปานกลางต่ำกว่า 5% ที่ต้องการใช้ยาจริงๆ ส่วนรายที่เริ่มมีอาการบ้าง ฝ่ายแพทย์จะพิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมต่อไป

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การระบาดโควิดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน โดยมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา โดยข้อมูล กทม.วันที่ 25 ก.พ. จะพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ใน HI CI และเตียงระดับ 1 ซึ่งเป็นฮอสปิเทลใน รพ.เอกชน และ รพ.รัฐ คิดเป็น 95% ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้าเตียงระดับ 2.1 ระดับ 2.2 และระดับ 3 รวมประมาณ 4-5% ดังนั้นส่วนใหญ่ 90 กว่า% อาการไม่มีรุนแรง น่าจะดูแลที่บ้านได้ โดยให้การรักษาตามอาการหรือตามแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญออกแบบไว้ จึงมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ สธ.ได้เห็นชอบแนวทางระบบคัดกรองโควิด 19 เพื่อเตรียมเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งจะมีการรักษาแบบโอพีดีมาเสริม โดยหากมีอาการทางเดินหายใจ หรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง ให้ประเมินอาการตนเอง หากเข้าข่ายสงสัยสามารถตรวจ ATK เองได้ หากผลเป็นลบ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT หากผลเป็นบวก มี 2 ทาง คือ 1.โทร 1330 จะมีการประเมินความเสี่ยง ซึ่งอาจจะเพิ่ม Robot Screening ในการช่วยคัดกรอง และ 2.ทั่วประเทศสามารถเดินเข้าไปยังคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุก รพ. หรือหากมีเบอร์ก็โทรไปเพื่อประเมินออนไลน์ได้ โดยจะมีการประเมินภาวะเสี่ยง หากมีภาวะเสี่ยง คือ กลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มากให้เข้าระบบ HI/CI First ซึ่งยังมี Hotel Isolation และฮอสปิเทลด้วย หากอาการมากภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรง จะแยกไปที่ รพ.

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน โดยจะมีการติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง ถามว่าแตกต่างจาก HI อย่างไร ส่วนใหญ่คล้ายกัน คือ มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการ แต่รักษาแบบผู้ป่วยนอกจะโทรติดตามครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง ส่วน HI จะโทรติดตามคัดกรองทุกวัน ซึ่งประชาชนยังสามารถติดต่อกลับได้ในทั้ง 2 รูปแบบ มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง ส่วนที่แตกต่างกัน คือ ดูแลแบบผู้ป่วยนอกจะไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้ ออกซิเจนในเลือด และไม่มีบริการอื่นๆ เช่น อาหาร ไม่มีเหมือนอย่าง HI

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า หากดูจากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวนมาก 15 จังหวัด เมื่อดูการครองเตียงแล้วพบว่ายังมีเหลือเพียงพอ แม้แต่ภูเก็ตที่มีอาการรุนแรงครองเตียงมากที่สุด 69% ก็ยังมีเตียงรับอาการรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละเขตสุขภาพมีความแตกต่างกัน แต่ภาพรวมเตียงระดับ 2-3 ยังมีเพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นการครองเตียงระดับ 1 ดังนั้น ถ้าเราสามารถเอาผู้ป่วยเตียงสีเขียวระดับ 1 โดยให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวทำ HI/CI หรือแม้แต่แบบโอพีดี จะเก็บเตียงไว้ให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงที่ต้องนอน รพ.ได้นอน รพ.

"การดูแลแบบโอพีดีเคสและแยกกักตนเองที่บ้าน เป็นการดูแลเสริมจาก HI/CI และฮอสปิเทล ส่วนการขยายเตียงก็มีการเตรียมความพร้อม แม้โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ถ้าจำนวนติดเชื้อมากขึ้น ก็จะมีผู้ติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นตามตัว ซึ่งที่ประชุมการรักษาพยาบาลใน กทม.มีมติ ให้ผมในฐานะอธิบดีกรมการแพทย์ ทำหนังสือถึงสถานพยาบาลทุกเครือข่าย เมื่อ 10 วันที่แล้ว ให้ลดเตียงผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด (Non-COVID) ลง 15-20% และนำบุคลากรมาช่วยดูแลโควิดเพื่อเตรียมเตียง แต่ยอมรับว่าทำให้ผู้ป่วยไม่ใช่โควิดเสียโอกาส ซึ่งเราต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทการระบาด" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า วันที่ 28 ก.พ. จะมีการประชุมกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศถึงแนวทางการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและการแยกกักตนเองจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งการดูแลแบบผู้ป่วยนอกจะใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย ที่ไม่มีความเสี่ยง ส่วนHI/CI ใช้ในกรณีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง และการเข้ารพ.กรณีอาการรุนแรง


ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ซึ่งมีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ เชื้อมีการเปลี่ยนแปลง ยาเปลี่ยนแปลง และแนวทางการรักษาใหม่ จึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงและกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 โดยแนวทาการรักษาผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก แบ่งตามกลุ่มอาการเป็น 4 กรณี คือ 1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี หรืออาการน้อยมากๆ เช่น คันคอนิดหน่อย ไอค่อกแค่ก สบายดีตลอดเวลา ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกโดยแยกกักตัวที่บ้าน ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจแพทย์ โดยไม่ให้ยาต้านไวรัสยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งต่างจากการทำ HI เล็กน้อย ตรงที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ถามว่าถ้าไม่ให้ยาต้านไวรัสอาการจะแย่ลงหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะหายเองได้ ไม่ต้องรักษาใดๆ ไม่ต้องเสี่ยงผลข้างเคียงจากยา เช่น ตาสีฟ้า คลื่นไส้อาเจียน ไม่ให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยอาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ใช้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และโรคตับ รวมถึงไม่ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสอื่น เพราะยังไม่มีข้อมูล

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ คือ ไม่เหนื่อยหอบ ไม่ซึม เพลีย อาการไม่รุนแรงก็ให้แพทย์พิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ แต่ถ้าผู้ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรอยู่ หากจะมาใช้ฟาวิพิราเวียร์ต้องหยุดฟ้าทะลายโจร แต่หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วัน การให้ยาต้านไวรัสอื่นจะไม่มีประโยชน์

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ เช่น ไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส อายุ 65 ปีขึ้นไป มีเบาหวาน หัวใจ แพทย์จะพิจารณาแอดมิทใน รพ. จะไม่รักษาแบบโอพีดีเคส เพราะมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาโรครุนแรงมากขึ้น โดยจะมียาหลายตัวที่จะนำมาใช้ดูแล

และ 4.ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงมาก แพทย์จะพิจารณาให้การดูแลที่เหมาะสมใน รพ.

"ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก เราจะรักษาโอพีดีเคส แต่ห้ามบอกว่าเป็นการรักษาแบบไปกลับ เพราะจะหมายถึงออกไปข้างนอกได้ ซึ่งไม่ได้ จะต้องรักษากลับไปกักตัวที่บ้าน 7 วันเป็นอย่างน้อย ระหว่างนี้ติดต่อกับทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่โรคจะค่อยๆ หายเอง การรักษาด้วยยาต่างๆ ขอให้แพทย์พิจารณา อะไรที่มีประโยชน์ก็มีโทษด้วย เราต้องชั่งน่ำหนักผลดีและผลเสีย" นพ.ทวีกล่าวและว่า ไกด์ไลน์นี้ช่วยแพทย์และคนหน้างานช่วยตัดสินใจว่าจะรักษาแบบ HI/CI หรือ โอพีดีเคสหรือเอาเข้า รพ. และช่วยตัดสินใจเรื่องการให้ยาต้านไวรัส 


กำลังโหลดความคิดเห็น