xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” เซ็นแล้วปรับ “โควิด” รักษาฟรีตามสิทธิ เริ่ม 1 มี.ค.นี้ กลุ่มมีโรคร่วมอาการรุนแรงใช้ UCEP Plus ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุทิน” เซ็นประกาศให้โควิดรักษาฟรีตามสิทธิแล้ว มีผลวันที่ 1 มี.ค.นี้ ส่วนมีโรคร่วมติดโควิดอาการรุนแรงใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาทุกที่ได้ ยันไม่ได้ตัดสิทธิหรือยกเลิก แค่จัดระเบียบกำหนดขั้นตอนดูแลตามอาการ ใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด ด้านกรมแผนไทยชงเพิ่มยาฟ้าทะลายโจรดูแลติดเชื้อไม่มีอาการกลุ่มเข้า HI/CI

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับโรคโควิด-19 ไปสู่การรักษาตามสิทธิ ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรคโควิด-19 รักษาตามสิทธิ ตามที่ นพ.ธเรศ กรัษรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้นำเสนอขึ้นมา โดยจะมีผลเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ และได้กำชับให้อธิบดี สบส.ไปชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิหรือยกเลิก แต่เป็นการกำหนดขั้นตอนและมาตรฐานให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดการใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากมีอาการฉุกเฉินวิกฤตยังสามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาทุกที่ได้ ส่วนอาการฉุกเฉินใช้ UCEP Plus ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนออกมา แต่ในทางปฏิบัติคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ

“การกำหนดคำจำกัดความอะไรต่างๆ เป็นเรื่องปฏิบัติภายในกระทรวง แต่เรื่องการให้บริการประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ ทุกอย่างเป็นไปตามสิทธิที่มี และเป็นสิทธิที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการจัดระเบียบ ไม่ใช่ยกเลิกเพราะอย่างไรก็ดูแล แต่ดูแลตามลักษณะอาการ” นายอนุทิน กล่าว

ถามว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.โควิดจะไม่ใช่โรคฉุกเฉิน นายอนุทิน กล่าวว่า คำจำกัดความคือโรคที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน

ถามว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านแรกๆ อาจมีประชาชนไป รพ.ที่ไม่ได้อยู่ตามสิทธิของตัวเอง จะมีการรองรับดูแลอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เราเริ่มประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มา 1 เดือนแล้ว ถ้ามีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นโรคอื่นด้วยและโควิดมาซ้ำ มีอาการรุนแรงก็ใช้สิทธิฉุกเฉินได้ คือ UCEP Plus แต่ไม่มีอาการอะไรเลย แล้วอยากไปเข้า รพ. โดยเฉพาะ รพ.เอกชน ก็เหมือนโรคอื่นๆ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เราก็ต้องปรับสภาพให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุดกับพี่น้องประชาชนและภาครัฐ เรื่องงบประมาณต่างๆ

เมื่อถามว่า มีความจำเป็นต้องปรับมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะรายพื้นที่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องพื้นที่เป็นเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด รวมถึงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเรื่องยาต่างๆ เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งวันนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็มาเสนอขอให้ตนเห็นชอบว่า ขณะนี้มีความจำเป็นต้องเพิ่มยาฟ้าทะลายโจรมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่ออกเลย ถ้ารับยาฟาวิพิราเวียร์ไปก็เหมือนกับเกินขนาน ซึ่งได้ยินว่า ฟ้าทะลายโจรสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนฟาวิพิราเวียร์เป็นยาฆ่าไวรัส ถ้าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหลายกรณีจะใช้ฟ้าทะลายโจร

“อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ขอให้ สธ.เพิ่มประมาณยาฟ้าทะลายโจรเข้ามา ก็เป็นหลักหลายสิบล้านเม็ด ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีอยู่แล้ว ถือเป็นการสนับสนุนยาไทยและผู้ผลิตไทย ซึ่งผมขออย่างเดียวยาฟ้าทะลายโจรไม่ให้นำเข้า เราเน้นสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศไทยให้มากที่สุด ส่วนการนำไปใช้ก็เป็นการจ่ายตามสิทธิในถุงแพกเกจของ HI/CI นี่คือ เหตุที่เราต้องใช้เทเลเมดิซีน แพทย์ดูอาการอย่างนี้ให้ฟ้าทะลายโจรหรือขนานไหน ถ้าอาการมากหน่อยก็ให้ฟาวิพิราเวียร์ มากกว่านี้ก็เข้า รพ. เป็นต้น ซึ่งก็ปฏิบัติมาอยู่ แต่บางทีเกิดเหตุขลุกขลักขึ้นมา 5-10 เคส จากใน 2 หมื่นเคส จะเอามาบอกว่าทั้งระบบล่มก็ไม่ใช่ แต่เราก็มีการแก้ไข” นายอนุทิน กล่าว

ถามว่า การเตือนภัยโควิดยังคงไว้ที่ระดับ 4 ใช่หรือไม่ ต้องยกเป็นระดับ 5 หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังตรงนี้เป็นอำนาจของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.

ถามต่อว่า จะมีการเสนอ ศบค.ปรับมาตรการ Test&Go โดยลดการตรวจ RT-PCR ครั้งเดียว นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพิจารณากันอยู่ ซึ่งมีข้อมูลมาว่าไม่ทำให้เกิดแพร่ระบาดมากขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์ หรือมีประสิทธิภาพระหว่างการทำหรือไม่ทำก็ไม่ต่างกันเท่าไร การทำ RT-PCR เป็นการเพิ่มภาระของผู้เดินทาง เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐ แต่เพิ่มภาระผู้เดินทางต้องเสียค่า RT-PCR เกือบพันบาท และมีค่าบวกต่างๆ ของ รพ. และโรงแรม และต้องจองไปโรงแรม เป็นการเพิ่มภาระและขั้นตอน ตอนนี้ที่ได้รับการร้องเรียนมา คือ ประกันสุขภาพจะกำหนดอย่างไร ยิ่งกำหนดมากเบี้ยประกันก็สูงมากก็เป็นภาระ เราก็รับฟังทุกเรื่องและพยายามที่จะเร่งแก้ไข

เมื่อถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สถานการณ์เตียงไอซียูเริ่มเต็ม นายอนุทิน กล่าวว่า ตนเช็กกับปลัด สธ.ทุกเช้า ท่านยังยืนยันว่า ระบบการสาธารณสุขยังสามารถให้การดูแล ต้องไปดูเรื่องประเภทของคนป่วย HI/CI เรามีกติกากำหนดไว้ว่าจะดูจากอาการของผู้ป่วย ว่าระดับไหนจะได้รับการดูแลอย่างไร ถ้าคนที่ไม่แสดงอาการก็อยู่ HI/CI ซึ่งกรณีแยกกักไม่ได้ที่บ้าน เรามี CI ต้องผ่านเป็นขั้นตอนก่อน ทาง กทม.ก็ยืนยันกับ สธ.ว่า HI/CI เขาพร้อม กทม.มีเตียง CI พร้อม ก่อนไปถึงฮอสปิเทล เรายังเตรียม รพ.สนาม อย่าง รพ.ปิยะเวท จะเอาอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆ ของ รพ.สนามปิยะเวท ที่ตั้งอยู่ 200-300 เตียงมามอบให้ สธ. เราก็ขอให้คง รพ.สนามไว้ก่อน ทาง ปตท.ที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก ตนหารือไปเขาก็ยินดีคง รพ.สนามไว้ ที่ก็ยังไม่เต็ม อาจจะมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน เมื่อเช้าประสาน สปสช.ให้เพิ่มคู่สายที่จะรับลงทะเบียนจดแจ้งผู้ป่วยและดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้


กำลังโหลดความคิดเห็น