xs
xsm
sm
md
lg

1 เดือนรักษา “โควิด” ใน รพ.เพิ่มเท่าตัว วอนเข้า HI/CI ก่อน เพื่มเกณฑ์ UCEP พลัส รวมกลุ่มสีเขียวมีโรคคุมไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ เผย 1 เดือน ผู้ป่วยโควิดเข้า รพ.เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 3.3 หมื่นราย เป้น 6.4 หมื่นราย ภาพรวมเตียงยังว่าง แต่บางแห่งใช้เตียงสีเขียวเพิ่มขึ้น เหตุมารักษาโรคอื่น แต่พบติดโควิด ทำให้ต้องใช้เตียงเพิ่ม บางส่วนอยากไปฮอสปิเทล วอนหากติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเข้า HI/CI ก่อน มาตรฐานไม่แตกต่าง กทม.รับได้วันละ 1 หมื่นคน เผย UCEP Plus เพิ่มเกณฑ์สีเขียวมีโรคคุมไม่ได้ ให้เป็นกลุ่มสีเหลืองรักษาได้ทุกที่ด้วย ส่วน Hotel Isolation ไว้สำหรับคนทำ HI/CI ไม่ได้จริงๆ

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น หลายคนกังวลว่าเตียงจะพอรับผู้ติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลทั้ง กทม.และทั่วประเทศ เปรียบเทียบสถานการณ์ช่วง 1 เดือน ระหว่างวันที่ 16 ม.ค. มีผู้เข้ารักษาใน รพ. 33,286 ราย วันที่ 16 ก.พ.ครองเตียงเพิ่มขึ้นมาดับเบิล คือ 64,900 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบดับเบิลตามจำนวนผู้เข้ารับการรักษา หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ถือว่าลดลง ส่วนใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 50 ราย อัตราส่วนยังเท่าเดิม 0.1% ส่วนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยของ ม.ค.อยู่ที่ 18 ราย และเสียชีวิตเฉลี่ย ก.พ.อยู่ที่ 23 ราย สำหรับผู้ป่วยเด็กเมื่อเทียบครึ่งเดือน ก.พ. กับเต็มเดือน ม.ค.ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อมูลการเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ของ กทม. ช่วง ก.พ.ถือว่าสูงขึ้นกว่า ม.ค. ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย HI/CI First

ส่วนที่ถามว่าจำนวนผู้ป่วยใน กทม.เท่าไรถึงรับมือได้ ในส่วนของ HI นั้น จากการประเมินหน่วยบริการทุกสังกัดใน กทม. ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น รพ.ขนาดเล็ก รพ.สังกัดกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ และกาชาด รวมแล้วรับใหม่ได้ 5,540 รายต่อวัน สะสม 43,075 รายต่อวัน แต่ยังสามารถขยายเพิ่มเติมได้ ส่วน CI มี 3,400 กว่าเตียง ครองเตียงครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.จะเปิดอีก 13 แห่ง ประมาณ 1 พันกว่าเตียง จะมี CI ประมาณ 5 พันเตียง หากคิดเฉพาะ HI/CI รับได้ใน กทม.วันละ 1 หมื่นคน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเตียง รพ.ทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เฉพาะใน รพ.และฮอสปิเทล มีทั้งหมด 174,029 เตียง ครองเตียง 80,756 เตียง ยังเหลือเกินครึ่งอีกประมาณ 93,273 ราย ส่วน กทม.มีทั้งหมด 55,369 เตียง ใช้เตียง 25,359 เตียง ยังว่างเกินครึ่งเช่นกัน 30,010 เตียง ซึ่งจำนวนเตียงใน กทม.ลดลง เนื่องจากปีที่แล้วเอาเตียงสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิดมาทำเตียงโควิดเพิ่ม ทำให้ผู้ป่วยไม่ใช่โควิดเสียโอกาสรักษาไปมาก นัดผ่าตัดหลายรายถูกเลื่อนออกไป หลังการระบาดดีขึ้น รพ.จึงเอาเตียงกลับมาดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด

“เมื่อพิจารณา 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ทุกจังหวัดยังมีปริมาณเตียงเหลืออยู่ หลายจังหวัดมีปัญหาเตียงสีเขียว เช่น นครราชสีมา เตียงสีเขียวใช้เต็ม 100% แล้ว ซึ่งที่พบการใช้เตียงสีเขียวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเราพบโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจที่ควบคุมไม่ได้ มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร มา รพ. ซึ่งก่อนแอดมิต ต้องคัดกรองโควิดก่อน พบว่า ติดเชื้อโควิด ก็ต้องมานอนเตียงโควิด ทำให้เตียงสีเขียวถูกครองเตียง เพราะมีโรคอื่น จึงต้องถูกจัดเป็นสีเหลืองโดยปริยาย แม้ไม่ต้องใช้ออกซิเจน ขณะที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการหมุนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดเด็กทุกวัน เพราะกรณีพ่อแม่ไม่มั่นใจอาการก็มีการรับไว้สังเกตอาการ 1-2 วัน เมื่อไม่มีอาการมากก็จะให้กลับไปดูแลที่บ้าน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมแม้ว่าเตียงยังมีเพียงพอ แต่ขอให้ผู้ที่ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ขอให้ใช้ HI/CI เป็นหลัก จะช่วยให้เตียง รพ.รองรับผู้ติดเชื้ออาการที่ต้องการเตียงจริงๆ และสำรองเตียงสีเหลืองสีแดงไว้ให้กลุ่มเสี่ยง ส่วนการเตรียมแผนระยะต่อไป คือ 1. ภาครัฐจะเพิ่มการจัดการ Hotel Isolation มากขึ้น 2. UCEP Plus ที่ให้อาการสีเหลืองขึ้นไปเข้า รพ.ไหนก็ได้ ซึ่งกำลังทำเกณฑ์ออกมา และ 3.ถ้าผู้ติดเชื้อมากขึ้นอีก จะขยายเตียงที่ไม่ใช่โควิดมาใช้

เมื่อถามถึงเกณฑ์อาการสีเหลืองและแดงที่จะเข้า UCEP Plus นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เกณฑ์เหมือนเดิม คือ มีอาการรุนแรงเป็นสีเหลือง ต้องใช้ออกซิเจนไม่ว่า จะแบบแคนนูลา หรือไฮโฟลว์ ส่วนใส่ท่อก็สีแดง สามารถเข้าที่ไหนก็ได้ แต่เพิ่มอีกเกณฑ์ของสีเหลือง คือ กลุ่มป่วยสีเขียวไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วมที่ควบคุมไม่ได้ หรืออย่างกรณีมีเลือดออกในกระเพาะ จะแอดมิตก็ต้องไปนอนเตียงโควิด ทั้งที่อาการโควิดไม่มี หรือสถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคทรวงอก พบอาการใจสั่น สโตรกที่ควบคุมไม่ได้ พอมารักษาสกรีนพบผลบวก ก็ต้องให้เป็นสีเหลือง ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะออกหลักเกณฑ์ในการมารักษาที่รพ. รวมถึงการส่งต่อไป รพ.เอกชน

“ตอนนี้เจอ 1330 รับ HI แต่ผู้ติดเชื้อบอกขอไปหาฮอสปิเทลก่อน ขอวิงวอนว่า ถ้าหมอคัดกรองแล้วอาการเขียว ขอว่าให้ทำ HI หากทำไม่ได้ก็มี CI ส่วนใหญ่ยังว่างอยู่ ถ้าทำแบบนี้เตียงใน รพ.จะไม่มีปัญหา ยอมรับว่าหลายท่านอยากนอนฮอสปิเทล ซึ่งย้ำว่าในการทางการแพทย์การดูแล HI/CI และฮอสปิเทลไม่แตกต่าง แต่อาจต่างเรื่องความสบาย โรงแรมคงสบายกว่า แจ่ขอวิงวอนว่าต้องเอาความปลอดภัย ไม่ใช่ความสบาย ถ้าเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง ถ้าช่วยกันแบบนี้จะฝ่าวิกฤตง่าย ยิ่งต่อไปยกเลิก UCEP ฮอสปิเทลอาจไม่เยอะ การไปครอง 1 เตียง ใน รพ.เป็นการตัดโอกาสคนสมควรจะเข้าก็จะมีปัญหา ขอวิงวอนทำความเข้าใจ หากอาการสีเขียว ก้เข้า HI/CI มีการดูแลอย่างดี ทั้งส่งอาการ 3 มื้อ ส่งอุปกรณ์การแพทย์ มีการติดตามประเมินอาการจากแพทย์ทุกวัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการรักษาที่บ้านยังคงที่ 10 วันหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไกด์ไลน์ยัง 10 วัน แต่กำลังมีการเสนอไกด์ไลน์ใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจจะใช้ในสัปดาห์หน้า ก็มีแนวโน้มที่อาจจะน้อยลง ส่วนจะต้องมีการตรวจเพิ่มหรือไม่ต้องขอไปดูไกด์ไลน์ที่เสนอก่อน

ถามถึง Hotel Isolation ที่จะดำเนินการเพิ่ม นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า Hotel Isolation ตอนนี้มีอยู่แล้ว เผื่อเป็นทางเลือกจริงๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถทำ HI/CI ได้ ซึ่งบางคนบอกอยู่คอนโดคนเดียว ยินดีทำ HI แต่นิติบุคคลไม่ให้ และมีข้อจำกัดทำ CI ไม่ได้ ก็มีการทำ Hotel Isolation เผื่อไว้ แต่จำนวนไม่มาก เฉพาะคนมีปัญหาจริงๆ ส่วนแตกต่างจากฮอสปิเทลตรงไหน ฮอสปิเทลมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ค่อนข้างมาก แต่ Hotel Isolation เหมือน HI/CI ส่วนที่คนกังวลไม่อยากเข้า CI ย้ำว่ามาตรฐานทางการแพทย์ไม่ต่าง แต่บางคนไม่สะดวก หรือบางที่ไม่มีแอร์ ก็เข้าใจ ก็คุย กทม.หาวิธีการปรับปรุงสภาพ CI ให้ดีขึ้น

เมื่อถามถึงกรณี รพ.เอกชน พยายามให้เข้าฮอสปิเทล นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขอให้โทร 1330 เพื่อเข้า HI ส่วนเรื่อง รพ.เอกชนต้องให้ สบส.ไปทำความเข้าใจ

ถามต่อว่าผู้ป่วยเด็กต้องเข้า รพ.เลยหรือไม่ หรือต้องสกรีนอาการด้วย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากไข้ไม่สูง ไม่หอบ ให้โทร. 1330 ก่อน จะมีกุมาแรพทย์ดำเนินการคัดกรองอาการ ยิ่งอายุต่ำกว่า 5 ปีให้ สถาบันเด็กฯ กับ รพ.ของกรมการแพทย์ที่มีกุมารแพทย์ จะพิจารณาว่าทำ HI ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะให้มาสถาบันเด็กฯ รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี สถานบันประสาทวิทยา และ รพ.ราชวิถี เพราะเอาความปลอดภัยเด็กเป็นที่ตั้ง ถ้าพ่อแม่ไม่สบายใจก็อาจนัดมาดูก่อนได้ ถ้าทำ HI ได้ขอร้องให้ทำ HI หากดูแล้วไม่มีอาการอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น