xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” ลั่นไม่ได้ถอด “โควิด” จาก UCEP อาการฉุกเฉินยังใช้ได้ เล็งทำ UCEP Plus ดูแลโควิดมีโรคร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุทิน” ลั่นไม่ได้ถอด “โควิด” จาก UCEP และไม่ได้ยกเลิก UCEP อย่างที่มีคนพูด แต่ถอดออกจากโรคฉุกเฉิน เพื่อรักษาตามอาการและตามสิทธิ ชี้ มีอาการฉุกเฉินก็ยังใช้สิทธิได้ ห่วงเปิดให้ป่วยโควิดแซงคิวโรคอื่น ทำระบบสาธารณสุขรวน เล็งทำ UCEP Plus ดูแลโควิดแบบมีโรคร่วม เข้ารักษาใน รพ. เร่งหารือกำหนดโรคร่วมอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ศูนย์การแพทย์บางรัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีการปลดโรคโควิด 19 จากสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกที่ (UCEP) ว่า เราไม่ได้ถอดโควิดออกจาก UCEP แต่เป็นการปรับปรุงวิธีการให้บริการตามอาการของผู้ป่วยโควิด สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือถอดออกจากเป็นโรคฉุกเฉิน เพราะโควิดเป็นโรคที่อยู่กับเรามา 2 ปีแล้ว ฉะนั้น เราต้องจัดระบบบริการเพื่อรองรับเขาได้ ประเทศไทยไม่ได้มีโรคโควิดอย่างเดียว แต่มีโรคติดต่ออื่นๆ และโรคไม่ติดต่อด้วย ที่รอใช้บริการทางการแพทย์ รอเตียง รอการบริการใน รพ.ต่างๆ

“ถ้าเราเน้นโควิดฉุกเฉินจะต้องแซงคิว จะต้องได้อภิสิทธิ์เหนือโรคอื่นทุกอย่าง ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขรวนได้ นี่จึงเป็นการปรับระบบการให้บริการให้สอดคล้องสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นในไทย ทุกวันนี้โควิดไม่ใช่โรคใหม่ เราต่อสู้มา 2 ปีกว่าแล้ว เราก็ต้องทำให้ระบบพื้นฐานของเราไม่ให้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่การยกเลิก UCEP เป็นอันขาด คนที่พูดว่า UCEP ยกเลิกโควิด ต้องขอให้ปรับความเข้าใจใหม่” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับโควิดที่มีอาการฉุกเฉินจริงๆ เช่น หายใจไม่ได้ มีอาการเหนื่อยหอบ ไอรุนแรง ก็สามารถเข้ารักษาฉุกเฉินที่ใดก็ได้ เราก็ให้การดูแลเช่นเดิม และตอนนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจและคล่องตัว ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ก็ได้กำหนดโซน UCEP Plus ขึ้นมา หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการให้อยู่บ้าน (HI) แต่หากเป็นสีเหลือง สีแดง ก็ต้องมีวิธีการให้การดูแลเฉพาะ

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการพิจารณาแล้วจะไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป ส่วนที่ผ่านมาต้องกำหนดเป็นโรคฉุกเฉินเนื่องจากเป็นโรคใหม่และกังวลจะไม่มีที่รักษาพยาบาลและทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว แต่ปัจจุบันคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ก็เหมือนโรคหวัดทั่วไปที่มีคนป่วยหลายแสนรายต่อวันก็ไม่มีปัญหา เช่นเดียวกันตอนนี้คนติดโควิดที่จำเป็นต้องนอน รพ.มีไม่มาก ขณะนี้อยู่ที่ราว 700 คน จึงไม่น่าจะเป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป

ส่วนของ UCEP ปัจจุบันมี 2 ส่วน คือ UCEP ทั่วไป และ UCEP โควิด ซึ่งสามารถไปรักษาที่ รพ.เอกชนตอนไหน เวลาไหนก็ได้หากพบว่าติดโควิด เพราะเป็นเหตุเร่งด่วนฉุกเฉินทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การติดโควิดต้องไม่นำแล้ว แต่ UCEP ยังมีอยู่ โดยหากคนไข้โควิดมีอาการรุนแรงถึงขนาด เช่น มีโรคร่วมที่เป็นอันตรายรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดโควิด แม้โควิดไม่รุนแรงมาก แต่โรคไตรุนแรง ก็จะพิจารณาให้เข้าข่ายเป็น UCEP โควิด เพื่อให้ได้รับการดูแล เพราะการดูแลไม่ใช่ดูแลแบบโรคไต แต่เป็นการดูแลแบบโควิด เมื่อต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.ก็ต้องเข้าอยู่ในขอบข่ายของโควิด แม้โรคโควิดจะไม่ได้รุนแรง

“จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดทำ UCEP Plus คือรองรับคนติดโควิดและมีโรคร่วมเดิม แม้ว่าโควิดจะไม่รุนแรง ซึ่งวันที่ 17 ก.พ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะมีการหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพิจารณาเกณฑ์ที่เข้าข่ายรักษาแบบ UCEP Plus แต่ในหลักการคือคนที่ติดโควิดและมีโรคร่วมเดิม ส่วนจะกำหนดนิยามของผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นผู้ที่โรคร่วมเดิมอะไรบ้าง อยู่ที่ข้อสรุปของการหารือ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับคนทั่วไปที่ติดโควิด จากเดิมที่จะเข้าไปรับการรักษาที่ รพ.เอกชนใดก็ได้ ก็ปรับเป็นการไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีสิทธิรักษาที่ รพ.ราชวิถี ก็ไปใช้สิทธิ รพ.ราชวิถี ถ้าอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ รพ.ก็จะพิจารณาให้ดูแลตนเองที่บ้าน (HI) แต่หากไม่สะดวกและไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ้านได้ ก็จะมีระบบดูแลที่โรงแรม (Hotel Isolation) โดยที่จะมีบุคลากรติดตามอาการทางระบบออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ฮอสปิเทล


กำลังโหลดความคิดเห็น