xs
xsm
sm
md
lg

“สาธิต” หนุนรักษา “โควิด” ตามสิทธิ แต่ยังห่วงหลายปัจจัยทำใช้เตียงมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สาธิต” ย้ำรักษาโควิดตามสิทธิเป็นเรื่องดี แต่อาจยังไม่ตรงกับช่วงเวลา เหตุติดเชื้อยังพุ่ง แม้มี HI/CI แต่ห่วงปัจจัยหน้างานทำให้ใช้เตียงมากขึ้น ทั้งคอนโดไม่ให้กักตัว กลุ่มป่วยมีโรคร่วม บางส่วนอยากไปหาหมอ รับหารือ “อนุทิน” แล้ว ขึ้นกับ รมว.สธ.ตัดสินใจจะเริ่ม 1 มี.ค.หรือไม่ หวั่นสื่อสารไม่พอ อาจกระทบรัฐบาลและ สธ.

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเสนอให้ปรับ “โรคโควิด-19” ไปสู่การรักษาตามสิทธิแทนการเป็นโรคฉุกเฉินวิกฤต เป็นวันที่ 1 เม.ย. 2565 ว่า ตามที่มีการหารือเรื่องนี้กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปอีกรอบแล้ว แต่ท้ายสุดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.สธ.ว่าจะลงนามให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด จะเป็นวันที่ 1 มี.ค.ตามข้อสรุปของกระทรวง หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณา 2 ส่วน คือ หลักการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการให้ประชาชนกลับไปรักษาตามสิทธิ ใช้สิทธิไหนไปสิทธินั้น แต่อีกเรื่องคือ “เวลา” ซึ่งช่วงที่คิดเรื่องให้กลับไปรักษาตามสิทธิขณะนั้นการติดเชื้อลดลง แต่ขณะนี้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะมีการวางแผนเรื่องผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเขียวให้สามารถทำ Home Isolation / Community Isolation ได้ แต่ยังมีปัจจัยหน้างานที่ต้องคำนึง

“อย่างพื้นที่ กทม. คนชั้นกลางอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม เมื่อติดเชื้อให้กักตัวในห้อง แต่นิติบุคคลไม่เข้าเข้าใจก็ไม่ให้อยู่ รวมถึงยังกังวลผู้ที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง โรคปอด แม้จะไม่มีอาการ แต่ก็มีความจำเป็นต้องใช้ศักยภาพเตียง ทำให้ผู้ให้บริการและศักยภาพเตียงจะถูกใช้มากขึ้น ถ้าเคสไม่ขึ้นมากกว่านี้ก็อาจไม่เป็นปัญหา แต่หากเคสเพิ่มขึ้นความแออัดอาจกลับมาสู่ รพ.รัฐ และสถานการณ์เดิมจะกลับมา ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ายังไม่ตรงกับช่วงเวลา” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การบริหารจัดการยังต้องพิจารณาเรื่องความรู้สึกของคนด้วย ซึ่งยอมรับว่า จะมีบางส่วนที่ไม่มั่นใจการกักตัวรักษาที่บ้าน อยากไปหาหมอมากกว่า กรมการแพทย์ก็คิดว่า อยากจะเตรียมไว้ให้มากที่สุดก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้าประชาชนเข้าใจว่าเราจะเดินในระบบไหนก็ไม่เป้นปัญหา แต่เรามีเวลาสื่อเพียงพอหรือไม่ หากยังสื่อสารไม่เพียงพอก็จะเป็นปัญหาต่อสาธารณสุขและรัฐบาลได้


กำลังโหลดความคิดเห็น