xs
xsm
sm
md
lg

จิตอาสาชี้รักษาโควิด-19 ระบบ HI เชียงใหม่ยังบกพร่อง พบเพียบคนติดเชื้อแยกกักอยู่บ้านหลายวันยังไม่ได้ยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่-จิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19ในชุมชนเมืองเชียงใหม่ชี้การรักษาด้วยระบบแยกกักตัวที่บ้าน(HI) ข้อบกพร่องเพียบ หลังพบคนเข้าตรวจATKแล้วมีผลบวกจำนวนมาก แยกกักตัวอยู่บ้านโดยไม่ได้รับยาและส่งข้าวส่งน้ำ ทั้งที่ผ่านไปหลายวันแล้ว แถมพยายามติดต่อ จนท.แล้วกลับไร้เสียงตอบรับ จนหลายรายต้องตัดสินใจใช้ชีวิตตามปกติออกไปทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แม้ทำเสี่ยงเชื้อแพร่กระจาย ขณะที่การจัดระบบตรวจATKสับสน ไม่มีการแยกคนตรวจเจอผลบวกทันที


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงพบผู้ติดเชื้อ เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยแต่ละวันมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งการตรวจRT-PCR และตรวจATK รวมกันเป็นหลักพัน ขณะที่แนวทางการรักษามุ่งเน้นใช้ระบบ Home Isolation(HI)หรือการแยกกักตัวที่บ้าน และ Community Isolation(CI) หรือการแยกกักตัวในชุมชน เนื่องจากพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการน้อย โดยตามหลักการของระบบHI นั้น ผู้ติดเชื้อจะได้รับยากลับรับประทานในช่วงกักตัวรักษา พร้อมมีการจัดส่งอาหาร น้ำดื่มและสิ่งจำเป็นให้

อย่างไรก็ตามพบว่ามีเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ที่ทำงานจิตอาสาในการประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19ว่าระบบการรักษาดังกล่าวน่าจะยังมีความขัดข้องอยู่อีกมากพอสมควร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยการตรวจATK ที่เมื่อตรวจพบผู้มีผลบวกแล้วกลับไม่มีการให้แยกตัวออกไปทันที รวมทั้งการจัดส่งยารักษา และอาหารน้ำดื่ม ให้กับผู้ที่มีผลตรวจATKเป็นบวกต้องแยกกักตัวรักษาที่บ้าน

โดยมีจำนวนมากที่ผลตรวจเป็นบวกแล้วหลายวัน แต่กลับไม่ได้รับยาและจัดส่งอาหารน้ำดื่มให้เลย โดยที่หลายคนเป็นคนหาเช้ากินค่ำไม่มีรายได้หากต้องหยุดงานและญาติพี่น้องช่วยส่งข้าวส่งน้ำ ก่อให้เกิดความสับสนกับระบบและแนวทางปฏิบัติตัว ทั้งนี้ด้วยความที่อาการน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคน เลือกที่จะยังคงใช้ชีวิตปกติและออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพตามเดิม ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่เชื้อจะยิ่งแพร่ระบาด


ทั้งนี้นางสาวสุรีย์รัตน์ แสงโสด อายุ 40 ปี จิตอาสาช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19และกลุ่มเสี่ยงตามชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19และกลุ่มเสี่ยงตามชุมชน ขณะนี้พบปัญหาว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่เข้ารับการตรวจATKพบผลเป็นบวกและเจ้าหน้าที่ให้รักษาด้วยระบบ HI แต่ปรากฏว่าผ่านไปหลายวันแล้ว กลับยังไม่ได้รับยารักษาโรค และไม่มีการส่งอาหารน้ำดื่มและสิ่งของจำเป็นให้เลย ซึ่งผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้มีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่และคนชรา

ขณะที่เมื่อพยายามติดต่อไปหาเจ้าหน้าที่ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ต้องอยู่กันไปตามมีตามเกิด ซึ่งในส่วนของกลุ่มจิตอาสาที่ตัวเองทำงานอยู่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้บางส่วน ขณะเดียวกันพบด้วยว่าผู้ติดเชื้อดังกล่าวที่ไม่ได้รับยาและไม่ได้การช่วยเหลือ จำนวนไม่น้อยเลือกที่ออกไปใช้ชีวิตและทำมาหากินตามปกติด้วยความจำเป็น เพราะเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือและไม่มีรายได้ที่เอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ซึ่งเท่ากับมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อแพร่ระบาดออกไปได้ แต่ก็เข้าใจเหตุผลความจำเป็นดังล่าว


นอกจากนี้ นางสาวสุรีย์รัตน์ บอกว่า จากข้อมูลของผู้ที่เข้ารับการตรวจATKพบผลบวก ระบุด้วยว่า ในช่วงที่เข้ารับการตรวจATK ในจุดที่หน่วยงานรัฐมีการจัดไว้ให้นั้น เมื่อตรวจพบผู้ที่ผลเป็นบวกกลับไม่มีการแยกพื้นที่พักรอระหว่างคอยพบเจ้าหน้าที่ที่จุดตรวจเพื่อรับคำปรึกษา โดยปล่อยให้ปะปนกันทั้งหมด และที่ระหว่างคอยเจ้าหน้าที่นั้น ยังมีการปล่อยปละให้ผู้ตรวจพบที่มีผลเป็นบวกสามารถออกไปไหนมาไหนได้ก่อนจะกลับมาพบเจ้าหน้าที่ในภายหลัง แทนที่จะแยกให้เป็นสัดส่วนและนำตัวเข้าสู่ระบบแยกกักรักษาทันที แถมบางรายเมื่อพบเจ้าหน้าที่แล้วยังให้เดินทางไปรับยาด้วยตัวเองที่โรงพยาบาล แทนที่จะให้แยกกักตัวและมีการจัดส่งยาให้ ซึ่งมองว่ากระบวนการนี้ไม่รอบคอบเท่าที่ควรและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้เช่นกัน

โดยนางสาวสุรีย์รัตน์ แสดงความเห็นว่า จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้ติดเชื้อโควิด-19ดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าระบบการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อและระบบการรักษาที่มุ่งเน้นการแยกกักตัวนั้น ยังมีปัญหาความขัดข้องต่างๆ อยู่อีกค่อนข้างมาก ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อแล้วไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการรักษาได้จริง เพราะมีข้อมูลว่าหลายรายมีข้อมูลในระบบว่าได้รับยาและมีการส่งข้าวส่งน้ำให้แล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้รับอะไรเลย อีกทั้งเชื่อด้วยว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่มีการรายงานหลายเท่าตัว เพราะกลุ่มเสี่ยงไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองหาเชื้อ และจำนวนมากติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ พร้อมกับแพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ จึงอยากมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตรวจสอบหาช่องโหว่และปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนให้ทั้งระบบเกิดประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคอย่างแท้จริง.










กำลังโหลดความคิดเห็น