xs
xsm
sm
md
lg

ติดอาวุธให้ครบมือ! สาขาบรอดแคสติ้งฯ ม.กรุงเทพ เสริมทักษะด้านสตรีมมิ่งขานรับภูมิทัศน์สื่อยุคNew Normal

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากถามถึงสาขาวิชาในสายธุรกิจบันเทิงที่เด็กไทยอยากเรียนมากที่สุด ต้องมีสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บรอดแคสติ้ง” (Broadcasting) อยู่ด้วยแน่ๆ และคงปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกันว่า สถาบันที่ได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนในด้านนี้ย่อมมีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นหนึ่งในนั้น

และด้วยเหตุที่เป็นสาขาวิชาที่มีผู้สนใจเรียนเป็นจำนวนมาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงไม่เคยหยุดพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันยุคทันสมัย ล่าสุดได้ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับกับภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีแค่ศาสตร์ด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ก็ได้เพิ่มศาสตร์ด้าน Streaming Production เข้าไป จนกลายเป็น  “สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง” (Broadcasting and Streaming Media Production) เช่นในปัจจุบัน


หลายคนอาจยังสงสัยว่า อะไรคือ Streaming Media หรือสื่อสตรีมมิ่ง?   สื่อสตรีมมิ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสารในยุคดิจิทัล โดยอาศัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณ ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึง YouTube, Netflix, Facebook Live, LINE TV เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนเป็นสื่อสตรีมมิ่งที่คนยุคนี้คุ้นเคยกันดีนั่นเอง แต่อันที่จริงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยังมีหลากหลายมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช่องสำหรับสตรีมมิ่งคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ โดยตรง เช่น Twich, Ustream, Periscope, Vimeo ฯลฯ หรือโซเชียลมีเดียที่ทุกวันนี้ล้วนมีฟังก์ชั่นสตรีมมิ่งเป็นของตัวเองแทบทุกแพลตฟอร์ม

สื่อสตรีมมิ่งจึงเติบโตขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สื่อสตรีมมิ่งก็ยิ่งเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะ เนื่องจากผู้คนอาศัยอยู่กับบ้านทำให้มีเวลาสำรวจคอนเทนต์ในโลกออนไลน์มากขึ้น เดิมทีกลุ่มคนดูสตรีมมิ่งจะกระจุกตัวอยู่ที่วัย 18-34 ปีเป็นหลัก ก็ขยับขยายไปสู่กลุ่มคนวัยทำงานอายุ 35 ปีขึ้นไปจนถึงวัยพ่อแม่ เรียกว่าสถานการณ์โควิดมาเป็นตัวเร่งผู้คนให้ปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์สื่อเร็วขึ้นส่งผลให้สื่อสตรีมมิ่งเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยมีการคาดการณ์ว่า  ภายใน 5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดสื่อสตรีมมิ่งแบบ OTT (Over-The-Top) ซึ่งเป็นการรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียค่าบริการจะเขยิบสูงขึ้นจาก 3,000 ล้านบาท ไปถึง 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว


“นอกจากอุปกรณ์ในการทำสื่อสตรีมมิ่งโปรดักชั่นจะแตกต่างจากวิทยุโทรทัศน์ทั่วไปแล้ว พฤติกรรมของผู้ที่เสพสื่อสตรีมมิ่งยังมีลักษณะเฉพาะตัวด้วย” ดร.พีรชัย   เกิดสินธุ์  คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  กล่าว “ทั้งระยะเวลาในการชม ช่วงเวลาในการชม และรสนิยมในการเลือกชม ยกตัวอย่างเช่น  คอนเทนต์ในสื่อสตรีมมิ่งมักเป็นคลิปสั้นๆ จึงต้องเลือกเฉพาะช่วงตอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชมจริงๆ หรือแม้แต่การทำให้ดึงดูดใจผู้ชมได้ตั้งแต่ 10 วินาทีแรก เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษาอย่างลงลึก และหลักสูตรปรับปรุงนี้ยังเหมาะสำหรับคนที่ฝันจะเป็นผู้สร้างละครหรือซีรีส์ป้อนช่องทางสตรีมมิ่งที่เปิดกว้างไปทั่วโลกอย่าง Netflix, YouTube หรือLINE TV ด้วย   โดยจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ได้โชว์ฝีมือทั้งงานโปรดักชั่นและศิลปะการเล่าเรื่อง  ทั้งนี้ตลาดสื่อสตรีมมิ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงตำแหน่งงานที่มีรองรับมากมาย เรียนจบแล้วจะทำงานให้บริษัทหรือเป็นนายตัวเองก็ได้”


ตามที่ดร.พีรชัย  กล่าว จะเห็นว่า ฐานข้อมูลของผู้ชมเป็นเรื่องสำคัญมากในการนำมาใช้ผลิตงานให้เหมาะสม สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงสอนเกี่ยวกับBig Data ด้วย เพื่อให้นักศึกษานำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายควบคู่ไปกับการสอนใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้คอนเทนต์ที่นำเสนอน่าสนใจและน่าชมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การถ่ายทำ สตูดิโอ หรือห้องแล็บ ซึ่งอุปกรณ์การเรียนที่ครบครันทันสมัยถือเป็นความโดดเด่นของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เสมอมา

การเพิ่มทักษะการผลิตสื่อสตรีมมิ่งเข้าไปนี้ จึงทำให้สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ติดอาวุธให้ผู้เรียนที่มี Passion หรือความหลงใหลในธุรกิจบันเทิงมีความรู้ความเชี่ยวชาญครบมือ กระทั่งสามารถผลิตงานป้อนทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อสมัยใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้ชมในยุค New Normal ได้แม่นยำอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น