xs
xsm
sm
md
lg

“มากกว่าเงินคือโอกาส” สมายล์-ลลิต์ภัทร เด็กแฟชั่นดีไซน์ ม.กรุงเทพ กับประสบการณ์การออกแบบ sportswear ให้แบรนด์ดัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ใครสักคนจะมีโอกาสทำงานร่วมกับแบรนด์ดัง ได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง แถมผลงานชิ้นนั้นยังถูกซื้อลิขสิทธิ์เพื่อไปจัดจำหน่ายจริงตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี

แต่ สมายล์-ลลิต์ภัทร รุ่งโรจน์โชติช่วง บัณฑิตใหม่หมาดจากภาควิชาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้เข้าร่วมโครงการออกแบบชุดออกกำลังกาย (sportswear) ให้กับบริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด ผู้บริหารร้านค้าเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาชื่อดัง ซูเปอร์สปอร์ต (SUPERSPORTS) เจ้าของแบรนด์ UMBRO, LOTTO, FILA และ S SPORTS เป็น 1 ใน 7คนงานจากทั้งหมดกว่า 30 คนที่ผลงานการออกแบบได้รับคัดเลือกให้ไปตัดเย็บจริงเพื่อจัดจำหน่ายในช็อปซูเปอร์สปอร์ตในอนาคตอันใกล้

“การออกแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน โดยทางสาขาการออกแบบแฟชั่นได้ทำความร่วมมือกับ ซี อาร์ ซี สปอร์ต เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้ทำงานจริงกับภาคธุรกิจ” สมายล์เล่าถึงที่มาที่ไปของโอกาสที่ได้รับในครั้งนี้ “ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากกว่าปกติ เพราะทางบริษัทสอนทั้งวิธีการผลิต การตลาด และการสร้างแบรนด์ตอนแรกหนูก็กลัวเหนื่อย แต่พอได้ทำก็รู้สึกว่า ถึงจะเหนื่อยแต่ก็สนุก เพราะได้ลงสนามจริง ดูแบรนด์จริง วิธีการผลิตจริง ซึ่งถ้าเป็นการเรียนทั่วๆ ไป เราคงไม่ได้เข้าไปเจาะลึกถึงขนาดนั้น”


สมายล์เล่าว่า ตอนแรกทางบริษัทยังไม่ได้แจ้งกับนักศึกษาว่า ผลงานที่ออกแบบได้เข้าตาจะถูกนำไปผลิตเพื่อจัดจำหน่ายจริง ต่อมาพอได้รู้ว่า โอกาสทองอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทำให้เธอมุ่งมั่นและมีกำลังใจที่จะออกแบบชุดให้โดดเด่นมากที่สุด โดยเธอได้ออกแบบเสื้อกางเกงออกกำลังกาย และแจ๊คเกตอย่างละ 1 ชิ้น ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนล้อเลียนของรอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) ศิลปินระดับโลก นอกจากนี้ ยังนำโลโก้ของซูเปอร์สปอร์ตมาดัดแปลงให้มีลักษณะคล้าย polka dot ที่เธอชื่นชอบเป็นการส่วนตัว จนกลายเป็นลวดลายที่โดนใจคณะกรรมการ

“ผลงานของพวกเราเคยนำไปแสดงในงานแฟชั่นโชว์ พอทางซี อาร์ ซี ได้เห็น ก็รู้สึกชื่นชอบงานของหนู โดยเขาบอกว่าตรงตามคอนเซ็ปต์แบรนด์และแม้แจ๊คเกตจะเป็นโลโก้แบรนด์ทั้งตัวแต่ก็ออกแบบให้ดูไม่ฮาร์ดเซลจนเกินไป”


ถึงแม้งานจะได้รับเสียงชื่นชม แต่กว่าจะทำให้สำเร็จได้นั้น ก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค

“ตอนแรกโดนวิจารณ์เรื่องดีไซน์ที่ดูล้นเกินไป เพราะถึงเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องตีกรอบให้แคบลงและให้เหมาะกับทาร์เก็ตกรุ๊ปที่เขาต้องการด้วย ที่สำคัญคือต้องสวมใส่ได้จริง แบรนด์เปิดโอกาสให้เราคิดเต็มที่ แต่ก็จะแนะนำให้หยิบเฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญมาใช้ หรืออย่างคัตติ้งกางเกง ตอนแรกหนูออกแบบให้มีดีเทลซ้อนกันไปมา ทำให้ใส่ยากและไม่กระฉับกระเฉง และยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกใช้ผ้า ซึ่งทางซี อาร์ ซี ก็เข้ามาช่วยแนะนำผ้าที่เหมาะสม เช่น ผ้าแบบไหนช่วยระบายอากาศและทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกรีแลกซ์มากขึ้นผ้าที่ทางบริษัทแนะนำมาเป็นผ้าที่ต้องสั่งมาจากเมืองนอก ไม่มีขายในเมืองไทย เป็นผ้าที่มีความยืดหยุ่นมาก ไม่อับชื้น ทำให้หนูมีความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน”

ไม่เพียงแค่ทีมงานระดับมืออาชีพของซี อาร์ ซี จะเข้ามาดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย


“อาจารย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับซี อาร์ ซี ทำให้นักศึกษาได้รับโอกาสเข้าไปดูกระบวนการทำงานจริงอย่างเจาะลึก ไม่ว่าจะที่สำนักงาน ช็อป หรือโรงงาน นอกจากนี้ อาจารย์ยังซัปพอร์ตพวกเราเยอะมาก ถ้าใครไม่เข้าใจอะไรก็โทร.หาหรือทักไปถามได้เลย โดยอาจารย์จะช่วยแปลความต้องการของทางแบรนด์บางอย่างที่เราไม่เข้าใจ สอนให้เราตีโจทย์ที่จะทำให้ชัดเจนก่อน จะทำให้เราสร้างสรรค์งานออกมาได้ง่ายขึ้นและแนะนำว่า เวลาผู้ใหญ่ติอะไรให้รับฟังและปรับแก้ ไม่ใช่ว่าลนจนไม่ฟังคนอื่น เพราะบางอย่างที่เราทำอาจไม่ดีเสมอไปในสายตาคนอื่น เรียกว่าทางซีอาร์ซี มาดูแลเรื่อง Hard Skill ในการออกแบบเป็นหลัก ส่วนอาจารย์จะมาช่วยเพิ่มเติมในส่วนของ Soft Skill”

สมายล์ให้ความเห็นว่า เสน่ห์ของ sportswear อยู่ตรงการมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากกว่าความสวยงามไม่ว่าจะเป็นคัตติ้งหรือเนื้อผ้าที่ต้องเหมาะสำหรับใช้งานได้จริง นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นชุดรัดรูปที่โชว์สรีระของผู้หญิง การออกแบบจึงจำเป็นต้องทำให้ผู้สวมใส่มั่นใจด้วย เช่น ต้องใช้ผ้าที่ช่วยปกปิดเซลลูไลท์บนเรือนร่างได้ เป็นต้น

ผู้ที่ได้รับคัดเลือกผลงานการออกแบบทั้ง 7 คนของสาขาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นั้น นอกจากจะได้รับเกียรติบัตรการันตีฝีมือแล้ว ยังได้รับค่าลิขสิทธิ์จำนวนหนึ่งซึ่งสมายล์บอกว่า ความภาคภูมิใจและโอกาสที่ได้รับต่างหากที่มีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงิน


“หนูดีใจมาก ไม่ซีเรียสเรื่องเงินเลย หนูอยากได้เกียรติบัตรมากกว่า เพราะทำให้เรามีโปรไฟล์ที่ดีและสามารถนำเอาไปยื่นสมัครงานได้ และแค่ได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ดังก็เป็นโอกาสที่ดีมากแล้ว แต่การได้รับเลือกไปตัดเย็บและจำหน่ายจริง ยิ่งเป็นโอกาสที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งถ้าหนูไม่ได้เรียนที่ ม.กรุงเทพ ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับโอกาสเช่นนี้หรือเปล่าค่ะ”

สมายล์ยังฝากถึงเพื่อนๆ ด้วยว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และควรมีแผนสำรองในกรณีที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบหรือมี passion จริงๆ หรือไม่

เพราะความมุ่งมั่นและ passion เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น