กรมควบคุมโรค เผยผลวิจัยระดับโลก “ยาต้านไวรัสเอดส์” ชนิดฉีด “คาโบทิกราเวียร์” ให้ผลป้องกันเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย-สาวสอง ได้ผลดีกว่ายาชนิดกิน TDF/FTC เผย ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศร่วมทดลองด้วย เล็งเพิ่มเป็นทางเลือกยา PrEP ในอนาคต ชี้ ฉีดทุก 8 สัปดาห์ ไม่ต้องกินยาทุกวัน
วันนี้ (19 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศ ที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัย “HPTN 083” ที่นำยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ “คาโบทิกราเวียร์” มาศึกษาว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกลุ่มเสี่ยง คือ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง ได้เท่ากับการกินยาต้านไวรัสยาเอ็มทริซิทาบีน และ ยาทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต (TDF/FTC) หรือที่ประเทศไทยนำมาใช้เป็นยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) หรือไม่
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ภายใต้เครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) มีอาสาสมัครเข้าร่วม 4,570 คน จากสถาบันการวิจัยชั้นนำ 43 แห่งใน 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เปรู เวียดนาม อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และ ไทย ซึ่งมีศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย, คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข และ คลินิกพิมาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ เข้าร่วม โดยเป็นอาสาสมัครในไทย 553 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ค. มีการแถลงข่าวดังไปทั่วโลก ว่า ยาฉีดคาโบทิกราเวียร์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้มากกว่ายากิน TDF/FTC กว่า 3 เท่า หรือ 69% จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในโครงการรวม 50 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มยากิน 38 ราย คิดเป็นอุบัติการณ์การติดเชื้อใหม่ 1.21% และเป็นกลุ่มยาฉีด 12 ราย คิดเป็นอุบัติการณ์ 0.38% ถือว่ายาฉีดคาโบทิกราเวียร์ และยากิน TDF/FTC มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสูงมาก และมีความปลอดภัยสูงมาก
“ยาฉีดคาโบทิกราเวียร์ออกฤทธิ์ระยะยาว สามารถฉีด 1 ครั้ง ในทุก 8 สัปดาห์ ขณะที่ยากินต้องกินทุกวัน เพื่อให้ได้ผลสูงสุด ยาฉีดนี้จึงน่าจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินยา หรือลืมกินยาบ่อยๆ หรือผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากยาที่อาจมีผลต่อไต” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า นับเป็นความก้าวหน้าที่ไทยมีส่วนร่วมในการศึกษาพัฒนาทางเลือกใหม่ในการป้องกันเอชไอวีด้วยยาฉีด เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเลือกใช้ยาฉีดหรือยากิน หรือวิธีการป้องกันอื่นๆ ได้ตามความถนัด ความชอบ หรือความเหมาะสมกับแต่ละคน ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงยากินเพื่อป้องกัน หรือยา PrEP ได้แล้ว และน่าจะเข้าถึงยาฉีดตัวใหม่นี้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ จะช่วยให้ไทยไปสู่เป้าหมายยุติปัญหาเอชไอวีในปี 2573 ได้