xs
xsm
sm
md
lg

อย่าประมาท "ไข้หวัดใหญ่" อันตรายซ่อนเร้นในภาวะ "โควิด"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของไทยจะลดลง โดยมีผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันอยู่ที่หลักหน่วย จนนำมาสู่การผ่อนปรนกิจการในระยะที่ 2 แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะหากประมาทขึ้นมาเมื่อไร หรือการ์ดตก ไม่คงมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง โอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอก 2 อย่างรุนแรงก็มีสิทธิเกิดขึ้นได้

นอกจากโรคโควิด-19 แล้ว อีกโรคที่น่ากังวลไม่แพ้กันในช่วงนี้ คือ "โรคไข้หวัดใหญ่" จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 พ.ค. 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 98,831 ราย อัตราป่วย 148.65 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.004


อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงต้นปี 2563 ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-4 โรคไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดสูงมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 แต่หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการกินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ และสวมหน้ากาก ส่งผลให้อัตราการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน มีวิธีการติดต่อแพร่เชื้อเหมือนกัน ลดลงตามลงไปด้วย โดยมีจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่าปี 2562 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

แต่การระบาดตามปกติของโรคไข้หวัดใหญ่ช่วงประมาณปลาย พ.ค.จะเริ่มกลับมาระบาดสูงอีกครั้ง คือ ช่วงหน้าฝน ไปจนถึงช่วง ก.ย.ของทุกปี และจะค่อยเริ่มลดต่ำลงมา ดังนั้น ช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ โรคไข้หวัดใหญ่จึงมีโอกาสกลับมาระบาดเพิ่มขึ้นได้อีกและถือเป็นอันตรายซ่อนเร้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) จากทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ซึ่งทำให้มีอาการรุนแรงและยิ่งทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น



นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดในหน้าฝน ซึ่งมีความน่ากังวล เพราะอาการแสดงของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก และสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นเมื่อมีการไอหรือจามได้เช่นเดียวกัน โดยถึงแม้ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะมีแพร่หลาย แต่พบว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพเพียง 40-60% ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี


"ล่าสุดพบข้อมูลว่า ผู้ป่วยติดเชื้อร่วมกันได้ทั้ง 2 โรค ซึ่งลำพังเพียงแค่โควิด-19 ก็เพิ่มภาระงานและส่งผลต่อทรัพยากรทางการแพทย์มากเพียงพอแล้ว เราจึงต้องหาวิธีจัดการกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงเวลานี้ให้ไม่ซ้ำเติมกันเข้าไปอีก” นพ.วีรวัฒน์กล่าว


นพ.วีรวัฒน์กล่าวว่า การติดเชื้อทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกัน จะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ โดยการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและจีนพบว่า การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมกันได้สูงถึง 20% และ 80% ตามลำดับ และการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 กว่า 60% พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ที่น่าตกใจกว่านั้น คือ การติดเชื้อร่วมกัน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55%


"อาการที่เข้าเกณฑ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประกอบด้วย ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร่างกายอ่อนเพลีย หากพบว่ามีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน และลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนใกล้ชิด โดยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีประสิทธิผลที่ดีที่สุดเมื่อรับประทานภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการ และปัจจุบันมีทางเลือกยาต้านไวรัสหลายชนิด ทั้งชนิดรับประทาน และสูดดมทางจมูก โดยจะต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิผลและความปลอดภัย” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว



นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มาทุกปี หากปนเปกับโควิด-19 ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น ซึ่งหน้าระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือ ปลาย พ.ค. ที่น่ากังวลเพราะ 2 โรคนี้อาการคล้ายกัน เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เวลาเป็นในเด็กหรือคนหนุ่มสาว อาการไม่มาก แต่หนักในคนแก่ ผลกระทบอะไรต่างๆ แทบแยกกันไม่ออก ดังนั้น ปี 2563 จึงเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยงเร็วขึ้น คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา


"ที่ต้องรีบ เพราะแม้จะป้องกันโควิดไม่ได้ แต่ป้องกันอีกโรคได้ ไม่ให้เกิดการป่วยซ้ำซ้อน ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถรับบริการได้ แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนโควิดยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ยังไม่มียารักษาจำเพาะ อาการคล้ายกัน เชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน แต่โควิดเป็นเชื้อใหม่ เท่าที่มีการศึกษาพบว่า โควิดมีความรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ 3 เท่า อัตราการเสียชีวิตภาพรวมสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า ดังนั้น ถึงต้องเร่งมือทำวิจัยวัคซีนโควิด" นพ.ทวีกล่าว



สิ่งที่ประชาชนควรทำคือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันการป่วย หรือป่วยก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคลง และยังต้องคงมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ลดโอกาสการติดเชื้อทั้ง 2 โรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน


เพราะหากไม่ช่วยกันป้องกันโรค เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 จะทำให้เกิดข้อจำกัดของทรัพยากรทางการแพทย์ การขาดแคลนอุปกรณ์ เช่น จำนวนเตียง บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้า และปัญหาเหล่านี้จะทวีคูณหากคลื่นลูกที่สองของโควิด-19 มาชนกับฤดูไข้หวัดใหญ่




กำลังโหลดความคิดเห็น