สธ.ชี้ หน้าฝนระวัง “โรคไข้เลือดออก” ด้วย เตือนแพทย์วินิจฉัยรอบคอบ ดูประวัติเสี่ยงให้ชัดเจนควรส่งตรวจโควิด หรือไข้เลือดออก ส่วนไข้หวัดใหญ่ลดลงหลังคุมโควิดได้ดี เผย เดือนหน้าเริ่มฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหลุ่มเสี่ยง ย้ำ การ์ดต้องไม่ตก หยุดอยู่บ้าน ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วย พบ “ระยอง” ป่วยไข้เลือดออกสูงสุด
วันนี้ (21 เม.ย.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเมื่อเข้าสู่หน้าฝน จะมีโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก จะเป็นปัญหาต่อการวินิจฉัยโรคโควิด-19 หรือไม่ ว่า ในภาวะโควิดที่เราต้องตั้งการ์ดสูง ส่งผลให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคทางเดินหายใจเหมือนกันดีขึ้นด้วย จากการที่ร่วมกันใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่อออกมานอกบ้าน ซึ่งสถิติชัดเจนว่า ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมลดลง ส่วนโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของไทย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน และเรากำลังเข้าสู่ช่วงหน้าฝนแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพราะจะช่วยตัดวงจรการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ แพทย์ทั้งหลายจะต้องไม่ลืมคิดถึงโรคไข้เลือดออกที่แทรกมาได้ตลอดเวลาด้วย
“การวินิจฉัยในช่วงนี้อาจต้องคิดถึงว่า ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการสงสัยไข้เลือดออก ก่อนไปสงสัยโรคโควิดด้วยไหม หมอต้องใช้ความรู้ประสบการณ์วิเคราะห์โรคว่าน่าจะเป็นอะไรมากกว่าอะไร ส่งแล็บด้วยความตระหนักและเหมาะสม หากสงสัยมีประวัติเสี่ยงโควิดก็ต้องส่งสารคัดหลั่งไปตรวจถ้าสงสัยไข้เลือดออกก็ต้องเจาะเลือดวิเคราะห์ให้ได้ว่ามีโอกาสเป็นไหม ส่วนมีโอกาสเป็นทั้งสองโรคหรือไม่ ก็เป็นได้ แต่น้อยมาก ดังนั้น ประชาชนเองต้องให้ความร่วมมือด้วย หน้าฝนมาแล้ว ไข้เลือดออก เราการ์ดตกไม่ได้ ใช้โอกาสอยู่บ้านหยุดเชื้อ ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ช่วยกันใส่หน้ากากเมื่อออกมาชุมชน ล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือไปสัมผัสใบหน้า ก็จะปลอดทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่” นพ.อนุพงศ์ กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำเข้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาแล้วตามสายพันธุ์ที่กรมควบคุมโรคแนะนำ โดยเดือน พ.ค. จะมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนใน 2 กลุ่มหลัก คือ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคทั้งหลาย สามารถไปฉีดในหน่วยบริการของรัฐทุกแห่งในประเทศไทย ซึ่งใน กทม.มีการนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน สปสช.สร้างสุข ของ กทม. สามารถลงสมัคร เลือกไปฉีดหน่วยบริการในระบบหลักประกันฯ ที่คลินิก รพ.ได้ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถไปรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะโรคนี้ถ้ารุนแรงก็เสียชีวิตได้เหมือนกัน
สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว 4. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมอง 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และ 7. โรคอ้วน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 เมษายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 8,746 ราย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 599 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย และในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ระยอง อ่างทอง นครราชสีมา พิจิตร ระนอง เลย ขอนแก่น พังงา สมุทรสงคราม และ ร้อยเอ็ด ตามลำดับ