xs
xsm
sm
md
lg

คลอดแนวทางฉีดวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” ฟรี 1 พ.ค.นี้ ย้ำ รพ.กำหนดจำนวนคน เว้นระยะห่าง สกัดโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค คลอดแนวทางฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ทั้งใน รพ.และแบบเคลื่อนที่เชิงรุก ป้องกันโรคโควิด-19 เข้มเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร กำหนดเวลา จำนวนคน จัดสถานที่ลดความแออัด แนะจัดฉีดเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ลดรวมตัวและแออัด เริ่ม 1 พ.ค.นี้

วันนี้ (25 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.- 31 ส.ค. 2563 ประชาชนอาจกังวลว่า จะมีคนจำนวนมากมารับบริการฉีดวัคซีน จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดทำแนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในหน่วยบริการที่ให้บริการวัคซีน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

1. โรงพยาบาลสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อวางแผนให้วัคซีนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรร ปรับรูปแบบให้บริการเข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีการจัดเตรียมอุปกรณ์วัคซีนและระบบลูกโซ่ความเย็น ตามมาตรฐานการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับวัคซีนตามวันเวลาที่กำหนด

2. ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้สถานบริการบริหารจัดการช่วงเวลาการให้บริการ จำนวนผู้มารับบริการ การจัดสถานที่ เพื่อลดความแออัดของการมารวมตัวกัน และยึดหลักการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรค เช่น จัดให้มีการคัดกรองผู้มารับบริการ การทำความสะอาดสถานที่ก่อนการให้บริการ การป้องกันตนเอง แนะนำให้ผู้ปฏิบัติงาน และผู้มาใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ และเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเอง รวมทั้งหน่วยบริการที่จัดบริการแบบเคลื่อนที่ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยการให้บริการเชิงรุก หรือกระจายการให้บริการในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการรวมตัวและความแออัดในการให้บริการ โดยจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้บริการแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงในบางกลุ่มหรือบางกรณี เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ เป็นต้น

“สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ให้วัคซีน ควรผ่านการอบรมและมีประสบการณ์ในการให้วัคซีน ได้ทบทวนแนวปฏิบัติของโครงการจนเข้าใจดีแล้ว และในการปฏิบัติตัวในสถานการณ์โรคโควิด-19 สำหรับผู้ปฏิบัติงานขอให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ควรตรวจสอบอาการป่วยของตนเอง โดยเฉพาะอาการไข้หรือทางเดินหายใจ หากสงสัยให้งดปฏิบัติงาน เมื่อต้องออกปฏิบัติงานในที่ชุมชนควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หลังปฏิบัติงานทุกครั้ง และก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ส้วม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอื่นๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมีย และ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7.โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) นอกจากนี้ ได้เตรียมวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น