xs
xsm
sm
md
lg

“กรมควบคุมโรค” เผย 7 กลุ่ม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ฟรี เริ่ม 1 พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แก่ 7 กลุ่มเสี่ยง ฟรี เริ่ม 1 พ.ค. ถึง 31 ส.ค. จำนวน 4.11 ล้านโดส สามารถขอรับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วันนี้ (30 เม.ย.) เพจ “Anti-Fake News Center Thailand” ได้ออกมาโพสต์ข้อความจาก “กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” เกี่ยวกับ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ฟรี ได้แก่ 1. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข
2. สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง
2.1 หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.2 เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
2.3 บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
2.4 โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
2.5 ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
2.6 โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
2.7 ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับช่วงนี้มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดความสับสนในการวินิจฉัย และการดูแลรักษา ในปีนี้กรมควบคุมโรค จึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เร็วขึ้น ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2563 จำนวน 4.11 ล้านโดส เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยแล้วอาจจะมีอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิต ซึ่งขอรับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สำหรับ การป้องกันตัวเองขอให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ “ปิด” คือ ปิดปากและปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง “ล้าง” คือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ และสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได “เลี่ยง” คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย “หยุด” คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ






กำลังโหลดความคิดเห็น