อภ. เตรียมยา PrEP "TENO-EM" รองรับบริการกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ หลัง สปสช.ให้สิทธินำร่องสถานพยาบาล 51 แห่ง ใน 21 จังหวัด เริ่ม 1 ม.ค. 63 เผยเป็นยาต้านไวรัส 2 ชนิดรวมกัน ผ่านการอนุมัติ อย.ช่วยป้องกันก่อนติดเชื้อได้ ย้ำต้องกินนาน 7 วันก่อนสัมผัสเชื้อ
วันนี้ (1 ธ.ค.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) กลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม นำร่องในสถานพยาบาล 51 แห่ง ใน 21 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ว่า การให้บริการ PrEP เป็นการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ก่อนมีการสัมผัส ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัส เพื่อนำยาเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ให้มีระดับเพียงพอก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยการกินยาต้านไวรัสทุกวันก่อนสัมผัสเชื้อ จะทำให้มีประสิทธิผลทำให้ในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในผู้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โดยพบสูงถึง 92% หากมีการกินยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ.ได้คิดค้น วิจัย และผลิตยา TENO-EM เป็นยาต้านไวรัสเอดส์สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 และจนปี 2561 ยา TENO-EM ได้รับอนุมัติข้อบ่งใช้ เรื่องการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้มีสถานพยาบาลบางแห่งได้เริ่มเปิดให้บริการยา TENO-EM กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆในข้อบ่งใช้การป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี โดยยา TENO-EM ใน 1 เม็ดประกอบด้วยยา 2 ชนิดรวมกัน คือ Tenofovir disoproxil fumarate 300 มิลลิกรัม และ Emtricitabine 200 มิลลิกรัม กลุ่มเสี่ยงรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดควรรับประทานอย่างต่อเนื่องก่อนสัมผัสเชื้อประมาณ 7 วัน ยาเพร็พ (PrEP) ออกฤทธิ์นาน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอาหาร มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นน้อย มีความปลอดภัย สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ มีประสิทธิผลในการป้องกันเอชไอวีในทุกกลุ่ม ขึ้นอยู่กับว่ากินยาได้สม่ำเสมอเพียงใด
"นับเป็นสูตรยาต้านเอชไอวีที่แนะนำเป็นสูตรแรกและสูตรทางเลือก บางกรณีหลังจากทานยาแล้วอาจพบอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง น้ำหนักลด ซึ่งอาการจะดีขึ้นหรือหายไปหลังจากเดือนแรก จึงไม่ต้องกังวล และเพื่อความมั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้ออย่างแน่นอน สามารถทานต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หลังความเสี่ยงครั้งสุดท้ายแล้ว ก็สามารถหยุดทานยาได้ โดยให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง และหากมีพฤติกรรมเสี่ยงให้รีบกลับมาตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีซ้ำ" นพ.วิฑูรย์กล่าวและว่า อภ.ได้มีการจัดเตรียมยา TENO-EM ไว้พร้อมสำหรับการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ