สปสช.ชี้ สถานการณ์โรคเอดส์ในไทยดีขึ้นมาก เป็นโรคเดียวที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ชูยา PrEP ป้องกันติดเชื้อก่อนสัมผัสช่วยควบคุมการแพร่เชื้อเอชไอวี เตรียมศึกษาวิจัย 1 ปีก่อนตัดสินใจ ประกาศเป็นชุดสิทธิประโยชน์ทั่วประเทศในลักษณะใด
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการยาเพร็พ (PrEP) ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง ทูตสันถวไมตรีโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชนในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอวียและแปซิฟิก ว่า สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยดีขึ้นมา เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ระบบบริการมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนางานด้านวิชาการ องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์มากขึ้น และการมีส่วนร่วม โดยงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ ปัจจุบันโรคเอดส์เป็นโรคเดียวในบรรดาโรคที่เป็นภาระกับระบบสุขภาพที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลง สะท้อนถึงความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจาย ขณะที่โรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน มีแต่จะมีผู้ป่วยสูงขึ้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เครื่องมือหลักที่ใช้ในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ คือ ถุงยางอนามัย แต่ใช้เครื่องมือนี้อย่างเดียวอาจไม่เหมาะในบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมหรืออาชีพที่แตกต่างจากคนทั่วไป อาทิ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สตรีข้ามเพศ พนักงานบริการ (ชาย/หญิง) ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เป็นต้น จึงเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกลุ่มคนเหล่านี้มาพูดคุย เพื่อดูแนวทางการควบคุมการติดเชื้อรายใหม่ โดยหารือร่วมกับผู้กำหนดนโยบายไม่ว่าจะเป็น บอร์ด สปสช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนนักวิชาการ ส่งผลให้เกิดสิทธิประโยชน์การบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” (PRE-EXPOSURE PROPHYLAXIS : PrEP) ที่นำร่องภายใต้ Global Fund หรือ โครงการ PrEP ของพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ โดยได้ถูกนำร่องในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2563 นี้ ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ประกาศเป็นสิทธิประโยชน์ทั่วไป เนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบที่ต้องศึกษาทบทวนก่อน
"อย่างที่ทราบว่าบอร์ด สปสช.มีมติในเดือน มิ.ย. 2562 ให้เริ่มดำเนินการในกลุ่มเป้าหมาย 2,000 ราย กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยร่วมกับกรมควบคุมโรคหาหน่วยบริการเข้ามาในระบบและสร้างกลไกการเข้ามามีส่วนร่วมและศึกษาวิจัยไปในตัว โดยศึกษาใน 2 ประเด็น คือ 1.ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงระบบบริการ เพื่อดูความพร้อมต่าง ๆ ดูกลไกของผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด และ 2.การดำเนินการที่เหมาะสมจริง ๆ กับผู้ปฏิบัติในพื้นที่เป็นอย่างไร เพราะพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน มีความแตกต่างในเชิงบริบทและวัฒนธรรม จึงต้องระมัดระวังในการดำเนินการ ระยะเวลา 1 ปีจากนี้ เมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนแล้วก็คงจะได้มีการกำหนดในเชิงนโยบายว่าจะประกาศให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ทั่วประเทศในลักษณะใด" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว