สธ.เผย ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ยังเจอจากกลุ่มสนามมวย ผับบาร์ บุคลากรทางการแทพย์เจอเพิ่มอีก 8 คน รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 11 คน รวมเป็น 111 คน เสียชีวิต 1 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวม 7 คน ยอดสะสม 1,388 คน ย้ำแต่ละจังหวัดมีแนวทางคุมโรคต่างกัน ชี้ กลุ่มไม่มีผู้ป่วย ต้องเฝ้าระวังคนมาจากนอกพื้นที่ 14 วัน กลุ่มมีผู้ป่วยน้อย ต้องติดตามคนนอกพื้นที่ บวกสอบสวนโรคให้ไว กลุ่มมีผู้ป่วยมากต้องเข้มมาตรการรักษาระยะห่าง ตะครุบตัวผู้ป่วยให้ไว
วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 143 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยหรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยก่อนหน้า จำนวน 70 คน ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 คน กลุ่มสถานบันเทิง 15 คน กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 49 คน และคนกลับจากพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 1 คน 2. ผู้ป่วยรายใหม่ 43 คน คือ กลุ่มเดินทางกลับจากต่างประเทศเป็นคนไทย 16 คน คนต่างชาติ 6 คน กลุ่มอาชีพเสี่ยง 6 คน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 คน ติดจากผู้ป่วย 6 คน ติดจากแหล่งอื่น 1 คน และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 1 คน กลุ่มสถานที่เสี่ยง 2 คน และอื่นๆ 5 คน และ 3. ผู้ป่วยผลแล็บยืนยันแต่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 30 คน
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 11 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 111 ราย เสียชีวิตรวม 7 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ. 1,270 ราย จำนวนนี้มีอาการหนัก 17 ราย ทั้งนี้ ในส่วนของบุคลากรการแพทย์มีความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการติดเชื้อ ว่าติดมาจากไหน และติดแล้วหยุดพักหรือไม่ ถ้าเกิดมีอาการขึ้นมาและรู้ตัวช้า จะมีผู้สัมผัสเขาค่อนข้างมาก ถ้าเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาจเกิดปัญหาตามมาได้ ขณะที่เราไม่อยากเห็นบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ จึงออกแบบเรื่องป้องกันโรคในรพ.ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ บุคลากรทุกคนช่วยกันดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยเมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ คนไทยลักษณะการเจอผู้ป่วยยังเป็นกลุ่มวัยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงค่อนข้างต่ำ คือ พบผู้ป่วยมากในช่วงอายุ 20-59 ปี กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เจอน้อย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในจีน พบว่า ถ้าเกิดว่าในกลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปี ไม่มีใครเสียชีวิต อายุ 10-39 ปี อัตราเสียชีวิตต่ำมาก ประมาณ 2 ต่อพัน แต่อัตราเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุสูงมากขึ้น โดยอายุ 40-59 ปี อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 1.3% อายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 3.6% อายุ 70 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 8% และอายุ 80 ปีขึ้นไปเป็น 14.8%
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยกระจายค่อนข้างมาก 59 จังหวัด โดยมาตรการการดำเนินงานของแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ไม่มีผู้ป่วยเลย ซึ่งขณะนี้มีหลายสิบจังหวัด ลักษณะวิธีดำเนินงานควบคุมโรคจะไม่เหมือนจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากแล้ว ความเข้มข้นมาตรการ หรือวิธีคิดควบคุมโรคจะแตกต่างออกไป โดยจะทำเหมือน กทม.เมื่อช่วงต้น ม.ค. คือ ผู้ป่วยระยะแรกเป็นคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ สิ่งที่จังหวัดกลุ่มนี้ต้องทำ คือ เฝ้าระวังคนเดินทางเข้าพื้นที่ ติดตามคนเข้าพื้นที่ให้ได้ 14 วัน เมื่อมีเข้ามาต้องไปดูเป็นใคร ขอความร่วมมือติดตามดูอาการให้ได้ 14 วัน
2. กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย เช่น 1-3 คน กลุ่มนี้ก็มาจากผู้ป่วยที่มาจากพื้นที่อื่นที่แพร่ระบาดอยู่แล้ว กลุ่มจังหวัดพวกนี้จะคล้ายกับกลุ่มแรก คือ ต้องพยายามตรวจจับคนไข้ที่มาจากต่างจังหวัดให้เร็วที่สุด เพื่อสอบสวนโรค ควบคุมโรค และหยุดแพร่โรคให้เร็วที่สุด ถือเป็นยุทธศาสตร์ยุติโรคให้เร็วที่สุด เพราะเราต้องการจังหวัดปลอดผู้ป่วยมากสุดในประเทศเท่าที่ทำได้ เป็นหน้าที่ของฝั่งสาธารณสุขที่ลงไปสอบสวนควบคุมโรคเวลามีผู้ป่วยขึ้นมา และต้องการความร่วมมือส่วนอื่นๆ เช่น อสม. ฝ่ายปกครองติดตามว่า มีผู้เข้าจังหวัดหรือไม่ และติดตามไป 14 วัน ยิ่งเรามีจังหวัดปลอดผู้ป่วยมากเท่าไร การดำเนินงานควบคุมโรคจังหวัดใกล้เคียงจะง่ายขึ้นไปด้วย
3. กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ยังไม่แพร่กระจายไปในวงกว้าง มีหลายจังหวัด เช่น สุรินทร์ อุดรธานี กาญจนบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา เป็นต้น ให้ทำเหมือน กทม.ตอนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเน้นหนัก 2 เรื่อง คือ การตรวจจับผู้ป่วยให้เร็ว ลงไปสอบสวนโรค และอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ มาตรการเชิงสังคม เพิ่มระยะห่างบุคคลให้มากขึ้น
และ 4. กทม. ที่มีผู้ป่วยค่อนข้างมาก แพร่กระจายกว้างขวาง ก็พยายามตะครุบให้ได้ทุกคน แต่มาตรการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ คือ ระยะห่างทางสังคมและบุคคล เพื่อให้คนออกมาพบปะที่สาธารณะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เห็นมาตรการใน กทม.ประกาศออกมา หรือ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ คือ ขอความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ลดจำนวนคนเดินทางเข้ามาสถานที่ทำงาน ทำงานจากบ้านได้ มีหลายที่ให้ความร่วมมืออย่างดี เพื่อลดความหนาแน่นผู้คนที่สาธารณะลง
“มาตรการเราแบ่งพื้นที่เป็นโซนๆ แต่ละพื้นที่มีมาตรการต่างกัน จะให้ทั้งประเทศมีตัวเลขผู้ป่วยเท่านี้ แล้วจะใช้มาตรการรวมทุกจังหวัด เช่น บางพื้นที่อาจต้องการข้อสั่งการเข้มข้นกว่าเดิม ห้ามออกจากบ้านวลานั้น เวลานี้ ส่วนจังหวัดไม่มีคนไข้เลย จำเป็นต้องลงมาตรการเข้มข้นขนาดนั้นหรือไม่ บังคับทั้งจังหวัดนั้นเลยไม่ต้องออกจากบ้านหรือไม่ แต่ละพื้นที่ต้องการมาตรการเข้มข้นต่างกัน จากเบาไปหนัก ซึ่งที่กระทบวิถีชีวิตประจำวันมากที่สุดคือ ระยะห่างทางสังคม ถ้าสมมติว่ามาตรการที่ทำอยู่ไม่สามารถยับยั้งชะลอแพร่ระบาดได้ มาตรการที่เข้มข้นขึ้นคงตามมา คงพิจารณาว่ามาตรการใดส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้รุนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ตัวมาตรการอย่างเดียว ยังเกี่ยวกับความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่ายด้วย อย่างอิตาลี ประกาศปิดเมืองเข้มข้นกว่าเรา และทำมาก่อนเรา สถานการณ์ก็ไม่ดีเท่าไร เพราะคนออกมาในที่สาธารณะ และสังสรรค์มากจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ความร่วมมือร่วมใจได้ดีแค่ไหนผู้ป่วยดูแลตัวเองไม่แพร่เชื้อโรคได้ดีแค่ไหน มีความสำคัญชี้ทิศโรคไปทางไหน และเราต้องออกมาตรการเข้มข้นกว่านี้หรือไม่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว