บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 รวม 11 คน สธ.รับมีทั้งคนติดจากผู้ป่วยที่ไม่บอกประวัติ และคนที่ไปสังสรรค์จนติด ทำให้บุคลากรที่ใกล้ชิดต้องกักตัวไปด้วย ขณะที่ ผอ.รพ.ใน จ.สมุทรปราการ ติดโควิด-19 ยังไม่รู้ติดจากแหล่งใด แต่มีบุคลากรใกล้ชิดต้องกักตัว 21-22 คน ตรวจเบื้องต้นยังไม่พบเชื้อ ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิตยังไม่มีข้อมูลเชิงลึก
วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 จาดเว็บไซต์กรมควบคุมโรค พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 11 คน ได้แก่ ผู้ป่วยรายที่ 34, 765-768, 866-867, 953 และ 979-981 โดยมีทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการติดเชื้อมีหลายสาเหตุ ทั้งการติดจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้บอกประวัติความเสี่ยง การติดจากผู้สัมผัสใกล้ชิด
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า บุคลากรสาธารณสุขก็เหมือนคนทั่วไป ที่มีการใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกด้วย โดยการติดเชื้อของกลุ่มบุคลากรมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ติดเชื้อระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคนไข้ไม่ได้บอกประวัติความเสี่ยง และ 2. กลุ่มที่ไปติดจากที่อื่น ทั้งนี้ เราห้ามไม่ได้ การที่บุคลากรสาธารณสุขจะไปมีสังคม ไปสังสรรค์ที่อื่น หรือมีภารกิจจำเป็นในพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่ได้กักตัวเอง 14 วัน ตรงนี้ทำให้มีผลกระทบกับผู้ร่วมงาน เพราะหลังจากที่ตัวเองมีผลเป็นบวกแล้ว ผู้ร่วมงานกลายเป็นว่า ต้องถูกกักตัว จึงเสียทรัพยากรคนกลุ่มนี้ไป 14 วัน
เมื่อถามถึงกรณี ผอ.รพ.แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ที่ติดโรคนี้ด้วย นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลสอบสวนโรค ว่า ติดจากไหนอย่างไร อยู่ระหว่างรวบรวมการเชื่อมโยงผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นใครบ้าง คาดว่า เร็วๆ นี้ จะแถลงรายละเอียดได้
เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้น 7 ราย เป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่รับรายงานข้อมูลตรงนี้
ถามต่อว่า คนที่เสียชีวิตที่ จ.นราธิวาส เป็นผู้ที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซียหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชายไทยอายุ 50 ปี ไปงานร่วมพิธีหรือไม่ ตนไม่มีข้อมูล แต่ผู้ป่วยรายนี้มารับการรักษาที่ รพ.สุไหงโก-ลก ส่วนการจัดการศพในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นชาวมุสลิม ก็มีแนวทางของจุฬาราชมนตรีอยู่แล้ว
ถามอีกว่า ผู้เสียชีวิต จ.นราธิวาส ไม่ได้อยู่ในผู้ป่วยอาการหนักก่อนหน้านี้ ถือว่ามาแล้วรุนแรงจนเสียชีวิตเลยหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ตนยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้
เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มสนามมวยครบ 14 วันของโรคแล้ว แต่ยังมีการเจอผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวยอีก นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ถ้านับ 14 วัน ก็ถือว่าครบไปแล้ว เมื่อวันที่ 20-21 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่สนามมวยยังมีการเปิดต่อไปจนถึงวันที่ 9 มี.ค. แล้วค่อยปิด ก็อาจจะยังมีคนใกล้ชิดอยู่อีก ทั้งนี้ หากติดตามกลุ่มสนามมวย พบว่า เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. และเริ่มพบเวทีราชดำเนินวันที่ 5 มี.ค. และ ลุมพินี วันที่ 6 มี.ค. เพราะมีเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน คือ คนดูมวย จากข้อมูลพบว่า มีประมาณ 5 พันกว่าคนดูในสนาม ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ต่อมาก็ทยอยกันป่วย แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไปสนามมวย แต่ไม่แสดงตัว ทั้งที่ สธ.ได้อนุโลมว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ มีรายงานผู้ป่วยทุกวัน จึงเชิญชวนให้ออกมาตรวจร่างกายว่าจะไม่ได้เป็นผู้ที่มีเชื้อไปแพร่เชื้อในชุมชน อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้เมื่อกลับบ้าน ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ก็ไปคลุกคลีคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือจากภารกิจหน้าที่การงาน โดยที่ไม่ได้ระมัดระวังการจะแพร่เชื้อในชุมชน เมื่อเขาเป็นผู้ป่วย คนรอบๆ ก็คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิด และเมื่อคนใกล้ชิดป่วย ก็จะมีผู้ใกล้ชิดต่ออีก หากตีความคือกลุ่มสนามมวย ถือเป็นวงที่ 1 คนสัมผัสใกล้ชิดเป็นวงที่ 2 หากตะครุบวงที่ 1 ได้ครบ การติดตามวงที่ 2 ก็ง่าย แต่หากมีหลุดรอกก็อาจมีขยายไปวงที่ 3 และ 4 ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยในช่วงนี้น่าจะเป็นวงที่ 3
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า จากการศึกษาของออสเตรเลีย พบว่า ถ้าประชาชนยอมรับมาตรการของรัฐ และร่วมมือปฏิบัติตามในระดับที่ต่างกันก็จะให้ผลต่างกัน สำหรับประเทศไทยตอนนี้ คือ การขอความร่วมมืออยู่บ้านและมีระยะห่างทางสังคม หากร่วมมือ 90% จะสามารถหน่วงสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ให้เกิดน้อยไปเฟสสามได้สบาย มีสถานที่เตียงรองรับเพียงพอ แต่หากลดมา 80% หรือ 70% จะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรคก็อยู่ระหว่างการสำรวจถึงความเข้าใจ และความร่วมมือของประชาชนอยู่
นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงกรณี ผอ.รพ.แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ มีการติดโรคโควิด-19 ว่า จากการที่ ผอ.รพ.ดังกล่าวติดโรคนั้น ทำให้มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดกับ ผอ.คนดังกล่าวประมาณ 21-22 ราย ขณะนี้ทุกรายได้รับการตรวจเชื้อเบื้องต้น และยังไม่พบว่ามีรายใดติดเชื้อ แต่ทุกรายก็ต้องทำการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสอบสวนหาสาเหตุของการติดโรคนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากแหล่งใด โดยผู้ที่ลงมาสอบสวนโรคนั้น คือ กรมควบคุมโรค ทั้งนี้ ภายหลังจากทราบเรื่องว่ามี ผอ.รพ.ติดโรค ทางโรงพยาบาลก็ได้มีการทำความสะอาดโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว