xs
xsm
sm
md
lg

เจอ “ผู้ต้องขัง” ติดเชื้อโควิด หมอป่วยอีก 2 ราย เหตุคนไข้ปกปิด ยอดรายใหม่เพิ่ม 107 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แถลงป่วยโควิด-19 รายใหม่ 107 ราย ยังพบกลุ่มสนามมวย-ผับบาร์ พบผู้ต้องขังติดเชื้อด้วย คาดติดจากคนไปเยี่ยม มีหมอติดเชื้ออีก 2 ราย เหตุผู้ป่วยปกปิดประวัติ ทำให้ไม่ได้ป้องกันตัว มีบุคลากรสัมผัสใกล้ชิดอีกกว่า 25 คน ต้องหยุดงานกักตัวเองที่บ้าน กระทบต่องานบริการ วอนผู้ป่วยอย่าปกปิด ย้ำคนกลับต่างจังหวัดแยกตัวเองที่บ้าน ส่ง จนท.และ อสม.สำรวจ ขอระยะนี้งดเยี่ยมผู้ต้องขัง

วันนี้ (25 มี.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า วันที่ 25 มี.ค.มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 107 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยหรือเกีย่วข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 27 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 4 ราย เป็นอาชีพพนักงานขับรถ บขส. และรับจ้างอยู่ที่ กทม. สมุทรสาคร, กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย เป็นคนที่ท่องเที่ยวในสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี ประชาสัมพันธ์ เจ้าของสถานบันเทิง, กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยรายงานมาแล้ว 14 ราย รับจ้าง ค้าขาย พนักงานบริษัท นักศึกษา คนขับรถแท็กซี่ ผู้ต้องขัง และตำรวจ กระจายอยู่ที่เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ภูเก็ต และ กทม. และกลุ่มร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 4 ราย คือ สงขลา ยะลา

2. ผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย คือ กลุ่มเดินทางจากต่างประเทศ 6 ราย เป็นชาวต่างชาติ คือ อังกฤษ ฟินแลนด์ เยอรมัน และอเมริกัน, กลุ่มทำงานหรืออาศัยที่แออัดใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องคนต่างชาติ 5 ราย เป็นพนักงานบริษัท พนักงานร้านนวด แคชเชียร์ เจ้าหน้าที่สนามบิน, กลุ่มแพทย์ 2 ราย เป็นแพทย์พี่เลี้ยงทำงานอยู่ที่ รพ. มีอาการเล็กน้อย ยังคงทำงานอยู่ ทั้งเข้าผ่าตัด ไปรับประทานข้าวกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำให้กลุ่มคนที่สัมผัสมีบุคลากรทางการแพทย์ห้องผ่าตัด 15 คน หมอร่วมทำงานด้วยใกล้ชิด 10 คน รวมมีผู้เกี่ยวข้อง 25 คน ต้องให้พักงาน ดูแลที่บ้าน

3. ผลแล็บยืนยันพบเชื้อ รอประวัติสอบสวนโรค 67 ราย สำหรับผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านมีเพิ่มเติม 13 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 934 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 70 ราย เสียชีวิตเท่าเดิม 4 ราย นอนรักษาใน รพ.860 ราย ผู้ป่วยมีอาการหนัก 4 ราย ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจทุกราย ทั้งนี้ ขอย้ำว่าประชาชนที่ทำงาน กทม.และปริมณฑลแล้วกลับไปยังภูมิลำเนา ท่านมีโอกาสนำโรคไปแพร่กระจายให้คนใกล้ชิด สธ.จึงสั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ให้เจ้าหน้าที่ สธ. และ อสม.สำรวจผู้กลับจากภูมิลำเนา ให้แยกตนเองอยู่บ้าน 14 วัน และประชาสัมพันธ์เรื่องระยะห่างทางสังคม

“คนที่ยังมีงานเลี้ยงสังสรรค์ มีเหตุพบปะกัน ถึงทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่เป็นร้อยราย ต้องงดรวมกลุ่มสังสรรค์ กิจกรรมต่างๆ ถ้าพบผู้ป่วยแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน สำหรับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนมีโรคประจำตัว 3 กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่รับความเสี่ยงสูง เป็นแล้วเป็นหนัก ภาพรวมคนกลุ่มนี้ควรงดออกจากบ้านเลย ส่วนคนออกทำงานมีโอกาสรับเชื้อ ให้เว้นระยะห่างในครอบครัวด้วย ทั้งนี้ หากป่วย ไข้ อาการทางระบบทางเดินหายใจ รีบพบแพทย์ทันที อย่าปกปิดข้อมูล วินิจฉัยรักษาทันท่วงที และคำนึงความปลอดภัยแพทย์ พยายาล บุคลากรสาธารณสุข อย่างกรณีแพทย์ที่ติดเชื้อ 2 ราย มีประวัติว่าตรวจผู้ป่วย แล้วทราบภายหลังว่าสามีได้ไปสนามมวยมาก่อน แล้วมาให้ประวัติย้อนหลัง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ท่านนั้นต้องรับเชื้อ ซึ่งบุคลากรของเราไม่ได้ต้องการรังเกียจ แค่ปกป้องท่านและตัวเอง เพราะต้องตรวจคนไข้อีกหลายร้อยคน ปรากฏว่าต้องถูกแยกกักตัวและดูอาการต่อไป แต่โชคดีว่า 2 รายอาการไม่ได้หนัก เน้นย้ำว่าอย่าปกปิดข้อมูลประวัติเสี่ยงส่งผลวินิจฉัยและรักษาโรค เกิดความเสี่ยงต่อบุคลากร หากติดเชื้อจากการปกปิดผู้ป่วย ส่งผลต่องานบริการ ผู้รักษาผู้ป่วย และเกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ภาพรวมของทั่วโลกขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ 407,670 ราย รับการรักษาและหายแล้วจำนวน 104,673 ราย มีอาการรุนแรง 12,000 ราย เสียชีวิต 18,250 ราย ประเทศพบผู้ป่วยสูงสุด คือ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี และอิหร่าน

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อมีความเป็นไปได้ที่จะติดจากบุคคลที่ไปเยี่ยม ในระยะนี้จึงแนะนำให้งดการไปเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากคนที่ไปเยี่ยมอาจจะติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ ทุกคนจะต้องเข้าใจว่าแม้จะคิดถึง ต้องการที่จะไปเยี่ยมบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ในระยะนี้การแสดงความห่วงใยต่อคนที่รักจะต้องแสดงความห่วงใยด้วยการอยู่ห่างๆ จากกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมได้ร่วมมือกรมราชทัณฑ์ในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มผู้ต้องขัง ตั้งแต่การคัดกรองผู้ที่เข้าเยี่ยม ไม่ให้มีการเยี่ยมในลักษณะที่มีการสัมผัสตัวกัน ส่วนผู้ต้องขังรายใหม่จะต้องแยกขังกับรายเก่าจนครบ 14 วันจนแน่ใจแล้วว่าผู้ต้องขังใหม่ไม่มีอาการป่วย จึงจะนำเข้าสู่เรือนจำ รวมถึงการคัดกรองเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วย เพราะอาจนำโรคเข้าไป




กำลังโหลดความคิดเห็น