xs
xsm
sm
md
lg

เสียชีวิตจากโควิดรายที่ 6 ป่วยสะสม 1,245 ราย คนแก่อัตราตายสูงกว่า 10% ย้ำแยกตัว-มีระยะห่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 109 ราย ยอดป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,245 ราย พบเสียชีวิตรายที่ 6 มีโรคประจำตัวทำให้อาการหนัก รักษาหายเพิ่มขึ้น 3 ราย แจงกลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต มักเป็นคนแก่ และมีโรคประจำตัว ยิ่งมาทั้ง 2 ปัจจัย โอกาสรุนแรงเสียชีวิตยิ่งสูง พบข้อมูลต่างประเทศคนสูงอายุอัตราตายสูงกว่า 10% ย้ำ คนกลับต่างจังหวัดให้แยกตัวเอง ป้องกันเอาเชื้อไปแพร่ผู้สูงอายุในบ้าน

วันนี้ (28 มี.ค.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ยืนยันติดเชื้อรายใหม่จำนวน 109 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 39 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 10 ราย อยู่ กทม.ทั้งหมด กลุ่มสถานบันเทิง 8 ราย ที่ กทม. และศรีสะเกษ และกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 21 ราย 2. กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 17 ราย ได้แก่ กลุ่มเดินทางจากต่างประเทศ 8 ราย เป็นคนไทย 6 ราย มาจากอเมริกา อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และ ญี่ปุ่น และคนต่างชาติ 2 ราย เป็นชาวยูเครน และ โปรตุเกส กลุ่มทำงานและอาศัยอยู่ในสถานที่แออัดใกล้ชิดผู้คนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ 7 ราย ทำอาชีพนวดสปา ขายบริการ พนักงานต้อนรับในโรงแรม เชฟ ขายเครื่องประดับ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย

3. กลุ่มที่ผลแล็บยืนยันชัดเจน แต่ยังอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 53 จำนวน มีกระจายทั้งเชียงราย นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร มุกดาหาร ภูเก็ต ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ กทม. นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 55 ปี มีประวัติเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี มีไขมันในเลือดสูง เข้ามารักษา รพ. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ด้วยอาการหอบเหนื่อย ตรวจพบปอดอักเสบรุนแรง ต่อมาต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนรักษาหายกลับบ้านมีเพิ่ม 3 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 1,245 ราย กลับบ้านรวม 100 ราย เสียชีวิตรวม 6 ราย ยังรักษาใน รพ. 1,139 ราย จำนวนนี้อาการหนัก 17 ราย โดยจำนวนนี้ 12 ราย รักษาใน รพ.สังกัด สธ. โรงเรียนแพทย์ และ รพ.สังกัดกลาโหม ส่วนอีก 5 รายรักษาอยู่ในต่างจังหวัด อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 31-76 ปี

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศมีอายุน้อยที่สุด 6 เดือน อายุมากที่สุด 84 ปี อายุเฉลี่ย 40 ปี อย่างไรก็ตาม จากการที่มีผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวย สถานบันเทิง ทำให้มีผู้ป่วยมีอายุน้อยในช่วงอายุประมาณ 20-29 ปี อายุ 30-39 ปี และอายุ 40-49 ปี จึงค่อนข้างมาก เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยกระจายไปใน 57 จังหวัด มากที่สุดคือ กทม. 515 ราย


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งที่ สธ.กังวลและอยากให้ประชาชนรับทราบเพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ส่วนหนึ่งจึงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเป็นส่วนน้อย ทั้งนี้ โรคโควิด-19 นั้น จาก 100 คน พบว่า จำนวน 80 คน จะมีอาการน้อยหรือน้อยมาก จนไม่ได้นึกว่าเป็นโรคนี้ ส่วนอีก 20 คน เข้ารักษาใน รพ. โดยจำนวนนี้ 5 คนจะมีอาการรุนแรง และบางส่วนจะเสียชีวิต ถ้าดูจากตัวเลขเสียชีวิตของไทยขณะนี้อยู่ที่ 6 ราย หากดูจากผู้ป่วยทั้งหมด 1,245 ราย ก็มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 0.5% ถือว่าเป็นตัวเลขในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่อัตราป่วยตายสูงกว่านี้

นพ.โสภณ กล่าวว่า กลุ่มที่เสียชีวิตมีลักษณะแตกต่างจากผู้ที่ไม่เสียชีวิตหลายประการ คือ 1. เป็นผู้ที่มีอายุมาก อย่างรายที่มีอาการหนัก 17 ราย พบว่า ครึ่งหนึ่งอายุเกิน 60 ปี และรายที่เสียชีวิตอายุเกิน 70 ปี มี 2 ราย ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงสูงที่มีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ต้องดูแลอย่าให้ป่วยหรือรับเชื้อ แต่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะอยู่บ้านมากกว่าวัยทำงาน คนพาเชื้อเข้าไปคือคนอายุน้อย จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนกลับจาก กทม. และปริมณฑล ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องแยกตัวเมื่อกลับไปถึงภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เพื่อลดโอกาสถ่ายทอดเชื้อให้คนในบ้านต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อลดการป่วย ก็จะไม่เสียชีวิต แต่ถ้าเกิดป่วยในคนอายุมากต้องรีบพบแพทย์ เพื่อให้ข้อมูลและประวัติสัมผัส เช่น อยู่ใกล้ผู้ป่วยยืนยันโควิดก่อนหน้านี้ เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่มีรายงานการระบาดอยู่เดิม แพทย์รับข้อมูลจะวินิจฉัยส่งตรวจแล็บให้ตรงกับโรคมากที่สุด

2. ผู้มีโรคประจำตัว โรคที่พบบ่อย ช่วงนี้คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน บางคนเป็นโรคไต มีคนที่รักษามะเร็ง กลุ่มนี้ก็มักมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติทั่วไป ต้องระมัดระวังการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ การติดเชื้ออาจมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าคนไม่มีโรคประจำตัว และคนมีโรคประจำตัวเรื้อรังมักมากับคนอายุมากขึ้น หากมาทั้ง 2 ปัจจัยโอกาสป่วยรุนแรงเสียชีวิตก็มากขึ้น ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากแล้ว อัตราป่วยตายในผู้สูงอายุจะมากกว่า 10% ส่วนคนอายุน้อยอัตราป่วยตายน้อยกว่า 1% นี่เป็นข้อมูลสำคัญให้เราเอาใจใส่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว จะได้ช่วยกันปกป้อง ดูแลให้สุขภาพดีไม่ป่วย ไม่เสียชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น