xs
xsm
sm
md
lg

ติดเชื้อโควิดกระจาย 57 จังหวัด จากกลุ่มสนามมวย-ผับเดินทางกลับบ้าน คาดผู้ป่วยรุนแรงใน ตจว.มีมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ป่วยโควิด-19 กระจาย 57 จังหวัด กทม.มากที่สุด 515 คน ตามด้วย นนทบุรี 68 คน ภูเก็ต 41 คน ชลบุรี 36 คน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 246 คน สธ.ชี้ พบผู้ป่วยในต่างจังหวัดมากขึ้น มาจากการเดินทางกลับภูมิลำเนา คาด จะพบการติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดเองมากขึ้น และจะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น

วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของประเทศไทย วันที่ 28 มี.ค. 2563 มียอดสะสมรวม 1,245 ราย กระจายอยู่ใน 57 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. มากที่สุด 515 คน นนทบุรี 68 คน ภูเก็ต 41 คน ยะลา 40 คน ชลบุรี 36 คน สมุทรปราการ 33 คน ปัตตานี 33 คน สงขลา 27 คน ปทุมธานี 14 คน อุบลราชธานี 12 คน เชียงใหม่ 11 คน สุราษฎร์ธานี 10 คน กาญจนบุรี 9 คน บุรีรัมย์ 9 คน นครราชสีมา/สุรินทร์/อุดรธานี จังหวัดละ 8 คน นราธิวาส/ประจวบคีรีขันธ์/กระบี่/นครปฐม/สมุทรสาคร/ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 7 คน

ราชบุรี/สระแก้ว จังหวัดละ 5 คน เชียงราย/นครสวรรค์/พัทลุง/มุกดาหาร จังหวัดละ 4 คน เพชรบูรณ์/นครศรีธรรมราช/สระบุรี/แม่ฮ่องสอน/จันทบุรี/ปราจีนบุรี จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น/ร้อยเอ็ด/สุโขทัย/เลย/ชัยภูมิ/ตรัง/ตาก/ระยอง/ลพบุรี จังหวัดละ 2 ราย และ กาฬสินธุ์/สุพรรณบุรี/เพชรบุรี/แพร่/นครนายก/พะเยา/พิษณุโลก/ยโสธร/ศรีสะเกษ/หนองคาย/หนองบัวลำภู/อำนาจเจริญ/อุทัยธานี จังหวัดละ 1 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 246 ราย ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 12-18 มี.ค. พบการป่วยใน กทม.จำนวนมาก แต่ในช่วงวันที่ 19-28 มี.ค. พบการป่วยกระจายไปหลายจังหวัด

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การพบผู้ป่วยกระจายไปใน 57 จังหวัด เป็นผลมาจากกรณีผู้มาชมในกลุ่มสนามมวย หรือผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิง ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดส่วนหนึ่ง มีการเดินทางกลับไปแล้วไม่สบาย และจึงตรวจพบว่ามีความเกี่ยวโยงกัน ส่วนระยะถัดมาเริ่มมีการติดเชื้อในพื้นที่ คือ คนที่อยู่ในภูมิลำเนานั้น ไม่ได้มา กทม. จากการสอบสวนน่าจะติดจากคนที่เดินทางมาจาก กทม.หรือเมืองที่มีรายงานการระบาดมาก่อน เช่น คนขับรถแท็กซี่ในต่างจังหวัด หรือพนักงานเสิร์ฟ แปลว่า มีการรับเชื้อในจังหวัดนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ตามหลัง กทม.และปริมณฑล ประมาณ 2 เดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เราเห็นใน กทม. และปริมณฑล ตั้งแต่ ม.ค. แต่ในต่างจังหวัดเริ่มมาพบใน มี.ค. จังหวัดหลังๆ ก็เช่นกัน เป็นการพบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

“ยิ่งช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วที่ กทม.มีการปิดสถานประกอบการจำนวนมาก ประกาศวันเสาร์ ว่า มีผลการปิดในวันอาทิตย์ ปรากฏว่า วันเสาร์นั้นที่มีประชาชนส่วนใหญ่ที่รู้ว่าไม่มีอะไรจะทำ งานที่ทำอยู่จะปิดไปจนถึงเมษายน ก็ทยอยกลับต่างจังหวัด วันหนึ่งเป็นแสนคน เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งก็ไปพร้อมกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด เพราะได้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์พอดี โรคนี้มีระยะฟักตัวยาวสุด 14 วัน สั้นสุด 2 วัน เฉลี่ยแล้วประมาณ 5-7 วัน ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่เราต้องจับตาดู คนที่มีอาการไข้และอาการทางเดินหายใจ หลังที่เดินทางกลับมาจาก กทม.หรือ เมืองใหญ่ๆ ที่มีการปิดสถานประกอบกิจการ ถ้าหากเจอก็รีบแจ้ง แยกคนไม่สบาย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ถ้าไปรับการตรวจรักษาเร็วก็จะได้รับการตรวจวินิจฉัย ลดการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า เช่นเดียวกันเริ่มมีคนป่วยมากๆ จะเริ่มมีคนอาการรุนแรง ซึ่งคนที่มีอาการรุนแรงช่วงแรกก็เจอใน กทม.และปริมณฑลเช่นกัน เพราะว่ามีผู้ป่วยก่อน อาการน้อยมีก่อน เมื่อมีเยอะๆ ก็มีคนอาการหนักประมาณ 5% อย่างที่ว่า ตอนนี้ก็เริ่มพบในต่างจังหวัด ซึ่งมี 5 ราย เป็นปรากฏการณ์ตามหลัง กทม.ตามหลัง 2 เดือนเช่นกัน แต่ กทม.ก็ยังมีผู้ป่วยรายใหม่ แม้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศ ตอนนี้ กทม.คงไม่เกินครึ่งแล้ว ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด จึงคาดว่าจะเจอผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัดหลังจากนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าผู้ป่วยรับเชื้ออาการหนักในวันนี้ ก็มีทั้งรับใน กทม.เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว เพราะอาทิตย์แรกอาการน้อย อาทิตย์ที่สองเริ่มอาการหนัก แต่ก็คาดว่าในอนาคตจะมีผู้ป่วยอาการหนักที่เกิดในต่างจังหวัด เพราะรับเชื้อในต่างจังหวัด ต่างจังหวัดมีโอกาสที่ดีกว่าในการเรียนรู้ประสบการณ์ กทม. ตอนนี้เรามียาที่ได้ผลดีหลายตัว เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่มีพร้อมให้ผู้ป่วยอาการปานกลาง และรุนแรงทุกจังหวัด

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการสอบสวนโรคบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกตัวเลขที่รายงาน จะนับเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดจากการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ส่วนแพทย์อีก 2 คน ที่มาจากจังหวัดตรังและสมุทรปราการไม่ได้นับ เพราะไม่ได้ติดจากการทำงาน ฉะนั้น ตัวเลขบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 จึงมีแค่ 11 คนเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น