ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้เห็นและสัมผัสกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากมายจนนับไม่ถ้วน จากเสียงตามสายมาสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต จากโทรศัพท์พื้นฐานมาสู่สมาร์ทโฟน เกิดเป็นโลกดิจิทัล สังคมออนไลน์ ธุรกิจการค้าและธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา นี่เป็นเพียงตัวอย่างอันน้อยนิดเท่านั้นกับการเปลี่ยนแปลงที่เกือบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการสำหรับการใช้ชีวิตอย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้
สังคมของเราถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม” มาทุกยุคทุกสมัย และจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่คนเรามี “ความคิดสร้างสรรค์” ในเบื้องต้นเราสามารถเข้าใจได้ว่า นวัตกรรมก็คือการริเริ่มสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาหรือทลายข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความถึงเฉพาะการคิดค้นอุปกรณ์หรือเครื่องมือรูปแบบใหม่ๆเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคิดค้นกระบวนการและวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยพลังความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น
ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นพลังในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆที่ต้องผ่านกระบวนการใช้ความคิดที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัย มีความกระตือรือร้นที่จะค้นหาคำตอบ มีความปรารถนาและแรงจูงใจที่ต้องการจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม
สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะที่ติดตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด ดังที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพบเจอกับคำถามมากมายที่ลูกตัวน้อยมีความสงสัยใคร่รู้ พร้อมทั้งนำเสนอจินตนาการแปลกใหม่ในการแก้ปัญหาของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
แต่น่าสนใจว่าคำถามเชิงสร้างสรรค์ที่เคยมีอยู่มากมายกลับค่อยๆลดน้อยถอยลงจนหมดไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเด็กๆโตขึ้น หลายคนพุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆไปจากจินตนาการที่ควรมี แต่นั่นเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น เพราะโดยแท้จริงแล้วกระบวนการที่จะปลูกฝัง หล่อหลอมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ได้รับอิทธิพลจากวิธีการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ในครอบครัวและการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเป็นสำคัญ
เพื่อไม่ให้การคิดค้นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในหลายด้านต้องหยุดชะงักไปด้วยการขาดแคลนพลังความคิดสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงคุณครูและบุคคลรอบข้างที่ต้องคอยดูแลสั่งสอนและอยู่ใกล้ชิดกับเด็กเสมอ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อบางประการ และหยุดพฤติกรรมที่จะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ดังต่อไปนี้
1.เบื่อที่จะตอบคำถาม วัยเด็กเป็นช่วงเวลาแห่งความสงสัยและอยากรู้อยากเห็น แต่ปัญหาคือ บางคำถามง่ายจนดูไม่น่าสนใจ บางคำถามก็ยากเกินกว่าที่จะอธิบาย เมื่อพบกับคำถามซ้ำๆเดิมๆบ่อยครั้งเข้าจึงเกิดความเบื่อหน่ายและไล่ให้ไปหาคำตอบในอินเทอร์เน็ตแทน สิ่งที่ควรเป็นคือ การเรียนรู้ที่จะตอบทุกคำถามของเด็กๆอย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมและแนะนำช่องทางการหาความรู้เพิ่มเติม เช่น ห้องสมุด
2.ละเลยความสนใจ คำถามหรือสิ่งที่ทำมักสะท้อนความสนใจที่เด็กมี เมื่ออยู่กับสิ่งนั้นบ่อยครั้งก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความชอบและความหลงไหลจนเกิดแรงจูงใจที่จะคิดริเริ่มทำสิ่งนั้นให้มีความแปลกใหม่และดียิ่งขึ้น แต่ผู้ใหญ่มักมองเห็นสิ่งที่เด็กสนใจเป็นเรื่องเหลวไหลที่ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งที่ควรทำคือ หมั่นสังเกตหรือร่วมกันค้นหาความสนใจเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาความคิดและทักษะได้อย่างเหมาะสม
3.เร่งรัดพัฒนาการเกินวัย คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากหวังดีกับลูกมากเกินไปจนกลายเป็นผลเสียแทน โดยเฉพาะการเร่งรัดเรื่องการเรียนที่หวังว่าหากลูกอ่านเขียนได้เร็วแล้วลูกจะฉลาด แทนที่จะได้ผลดีกลับเป็นการสร้างความกดดันและความเบื่อหน่ายจนผลการเรียนไม่เป็นอย่างที่หวัง สิ่งที่ควรทำคือ การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามช่วงวัยผ่านการเล่นเพื่อให้เด็กได้คิดค้น ทดลองและหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
4.ชี้นำอนาคต ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ผู้ใหญ่ต้องมีหน้าที่ในการชี้นำหรือวางกรอบให้เด็กทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่สนใจหรือคิดว่าเป็นประโยชน์ อะไรที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดถือเป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ดี บ่อยครั้งก็ดูจะมากเกินไปจนไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดหรือร่วมตัดสินใจได้เลย สิ่งที่ควรทำคือ การสร้างทางเลือกให้เด็กได้มีโอกาสคิดและทดลองทำโดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาและเป็นกำลังใจ
5.กำหนดกฎเกณฑ์ การกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นหนาเพื่อป้องกันความผิดพลาดนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังความกลัวของคุณพ่อคุณแม่ไปสู่เด็กโดยไม่รู้ตัว ทั้งกลัวความล้มเหลว กลัวถูกวิจารณ์ กลัวที่จะต้องอับอายที่เลี้ยงลูกไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับเด็กที่กลัวคุณพ่อคุณแม่ไม่รักหากทำไม่ได้ตามที่ต้องการ สิ่งที่ควรทำคือ การใช้กฎเกณฑ์เท่าที่จำเป็นและมีเพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบให้เด็กเกิดความระมัดระวังและรอบคอบในการคิดและตัดสินใจในทุกเรื่อง
6.ชอบเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบนับเป็นตัวการที่บั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอย่างแท้จริง เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์อยู่บนพื้นฐานของการริเริ่มสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม แต่การเปรียบเทียบใช้ในการตีกรอบหรือสร้างบรรทัดฐานที่มุ่งหวังให้เป็นมากกว่าการยอมรับถึงความแตกต่าง ทำให้เด็กกลัวที่จะไม่ได้รับการยอมรับและขาดความมั่นใจในตัวเองที่จะนำเสนอความคิดที่แปลกใหม่ สิ่งที่ควรทำคือ การหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบและเปิดกว้างในการแสดงออกที่จะส่งเสริมให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเอง
7.ละเลยสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่คุณพ่อคุณแม่มักละเลยคือ พื้นที่ที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการรับรู้ มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและต้องการที่จะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาของส่วนรวม สิ่งที่ควรทำคือ การสร้างโอกาสให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมเสริมทักษะและกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกฝนการใช้ความคิดร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเต็มที่
ท่ามกลางความกังวลใจว่าเด็กสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับสังคมได้น้อยลง การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากครอบครัวเป็นสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหันกลับมาทบทวนและเริ่มต้นปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อหยุดพฤติกรรมทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ