xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนใจลูกติดจอ/ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่เด็กปฐมวัยก็ยังสามารถใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวในการติดต่อสื่อสารและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว จนผู้ใหญ่อย่างเรายังต้องรู้สึกเขินอายปนความสงสัยว่าในแต่ละวันเจ้าลูกตัวน้อยใช้เวลาติดอยู่กับหน้าจอนานเพียงใดกันนะถึงใช้งานได้เก่งขนาดนี้

ด้วยภาระหน้าที่การงานรัดตัวมักทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่ทันสังเกตเห็นว่าบรรดาลูกๆใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนมากน้อยเพียงใด ตราบเท่าที่เด็กยังคงนั่งจดจ่ออยู่กับที่เดิมนานๆได้โดยไม่ออกไปซุกซนสร้างความเดือดร้อนมาให้ มิหนำซ้ำยังรู้เรื่องราวยากๆมากมายจนดูฉลาดเกินวัยอีกต่างหาก จึงน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคนในครอบครัวมากกว่าที่จะต้องไปสนใจจับเวลาการเล่นมือถือของเด็กๆ

แต่โดยธรรมชาติแล้วอะไรที่มากเกินไปมักไม่เกิดผลดีอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะวัยเด็กที่ยังมีข้อจำกัดในการจัดการตัวเองให้ทุกๆด้านของชีวิตเกิดความสมดุล การปล่อยให้ลูกใช้เวลาในแต่ละวันเพลิดเพลินไปกับแสงสีสดใสและเรื่องราวต่างๆบนหน้าจอมือถือมากเกินไป แทนที่จะเกิดประโยชน์กลับส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์และทักษะทางสังคม

เด็กที่ติดจอมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย โดยเฉพาะปัญหาความบกพร่องในการมองเห็นและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเนื่องจากการจำกัดอิริยาบถเป็นเวลานาน พัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้าซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นเทียมที่ไม่สามารถนั่งเฉยหรือมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้ เกิดความเครียด วิตกกังวลหรือแสดงความก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อไม่ได้อย่างใจ รวมทั้งขาดความกระตือรือร้นและความพยายามที่จะปรับตัวเข้าหาคนอื่นทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม

เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีสมัยใหม่กลับกลายเป็นยาพิษที่อยู่ใกล้มือลูกๆของเราในทุกๆวัน คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องใส่ใจกับการดูแลและจัดสรรเวลาในการใช้งานสมาร์ทโฟนของเด็กๆให้เหมาะสม ร่วมกับการพยายามเปลี่ยนใจลูกให้สมัครใจออกห่างจากหน้าจอด้วยวิธีการง่ายๆ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.เป็นแบบอย่างที่ดี – สิ่งสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนใจลูกที่ใช้ได้กับทุกๆเรื่องคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก โดยใช้มือถือในเวลาที่เหมาะสมและใช้เท่าที่จำเป็น การใช้มือถือของคุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่ในข้อกำหนดเดียวกันกับลูกโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่หรือเด็ก จะทำให้เด็กรู้สึกได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเสมอและพร้อมที่จะทำตามคุณพ่อคุณแม่ได้โดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขต่อกัน

2.เวลาของครอบครัว – รากฐานที่สำคัญของการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งคือ การทำให้สมาชิกทุกคนรู้สึกถึงคุณค่าและความสำคัญของการใช้เวลาร่วมกันมากกว่าเลือกที่จะไปทำสิ่งอื่นที่ตัวเองพอใจ ทุกคนจึงควรมีโอกาสเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในการกำหนดตารางเวลาและกิจกรรมที่จะได้ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหาร รายการโทรทัศน์ นิทานที่ชอบ สถานที่ท่องเที่ยวหรือหากิจกรรมใหม่ๆมาเล่นสนุกกัน

3.กิจกรรมสร้างสรรค์ – ส่วนหนึ่งที่ทำให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากจนเกินความจำเป็นคือ การถูกใช้เป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการดูแลลูก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องไม่ละเลยการดูแลเอาใจใส่บรรดาลูกๆด้วยตัวเองและทำการบ้านในการสรรหากิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่เด็กๆจะได้เสริมสร้างพัฒนาการและพัฒนาทักษะที่จำเป็นควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ อาทิ การเรียนศิลปะ ฝึกดนตรีหรือเล่นกีฬา จนไม่รู้สึกว่าการติดอยู่กับหน้าจอเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกอีกต่อไป

4.แนะนำการใช้งาน – ยุคสมัยนี้เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธการใช้งานสมาร์ทโฟนโดยสิ้นเชิง สิ่งสำคัญจึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องหาเวลาเรียนรู้ถึงวิธีการใช้งานและศึกษาถึงผลกระทบต่างๆอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่เด็กๆได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสมกับช่วงวัย ความรู้และความเข้าใจจะเป็นเกราะป้องกันให้เด็กๆคิดและตัดสินใจเลือกได้เอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

5.คำชื่นชมและกำลังใจ – การกำหนดกติกาและขอบเขตการใช้งานเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กๆใช้งานสมาร์ทโฟนได้อย่างเหมาะสม แต่การให้รางวัลตอบแทนด้วยคำชื่นชมและความยินดีเมื่อเด็กสามารถทำได้ตามข้อตกลงหรือจัดสรรเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆและสร้างผลลัพธ์ที่ดีนั้น จะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้เด็กรักษาความดีงามไว้และมีทัศนคติที่ดีต่อการทำสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยความสมัครใจ

เทคโนโลยีอาจเป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการดูแลลูกให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ก็จริง แต่ก็อาจทำให้ลูกของเรากลายเป็นเด็กติดจอซึ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย การเปลี่ยนใจลูกที่ติดหน้าจอนั้นสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก หากแต่เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องทำให้ลูกๆได้ซึมซับและเรียนรู้ว่ายังมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจให้ทำมากกว่าการใช้เวลาหยุดอยู่ที่หน้าจอสมาร์ทโฟน


กำลังโหลดความคิดเห็น