xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงต้องแก้ตั้งแต่วัยเด็ก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จริงหรือที่สังคมไทยที่เคยถ้อยทีถ้อยอาศัยกันกำลังหายไปและถูกแทนที่ด้วยภาพข่าวเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทและการใช้ความรุนแรงที่ปรากฎขึ้นไม่เว้นวัน ทั้งการสาดใส่คำพูดร้ายๆ หรือการใช้กำลังและอาวุธประทุษร้ายต่อกันจนทำให้เรื่องราวลุกลามบานปลาย อาจเพียงเพราะความเข้าใจผิดหรือรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจนปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือสติและเหตุผล

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทุกๆวันนี้สร้างความกังวลใจให้กับผู้คนมากมายว่าสังคมกำลังเดินไปในทิศทางใดและเราจะใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้ได้อย่างไร เชื่อเหลือเกินว่าคงไม่มีใครต้องการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงต่อกัน สิ่งที่จำเป็นอาจไม่ใช่เพียงการหลบหลีกและหาวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่สู้ดี

หากแต่เป็นวิธีการที่เราจะเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนนี้โดยร่วมกันสร้างสังคมที่ปราศจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงต่อกันได้อย่างไร

พฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงที่กำลังกล่าวถึงนี้เป็นการแสดงออกซึ่งหมายรวมทั้งในทางความคิด ความรู้สึก ถ้อยคำ ท่าทางและการกระทำที่มุ่งหมายจะทำให้ทรัพย์สินสิ่งของเกิดความเสียหาย ต้องการทำให้ผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเองได้รับความหวาดกลัว เจ็บปวดทางจิตใจ เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต คนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอาจทำไปโดยมีสติรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ แต่ก็มักจะมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ด้วยความก้าวร้าวและรุนแรงเป็นประจำ

ถึงแม้ว่าการบรรเทาปัญหาจะสามารถทำได้โดยอาศัยมาตรการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การควบคุมทางสังคมและการปรับสภาพแวดล้อมที่ไม่ไปกระตุ้นหรือเอื้อให้เกิดการใช้ความรุนแรง แต่ก็นับเป็นปัจจัยสนับสนุนมากกว่าที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือการพิจารณาลึกเข้าไปที่พื้นฐานในแต่ละบุคคลที่ถูกหล่อหลอมจากวิธีการเลี้ยงดู เกิดเป็นโครงสร้างทางบุคลิกภาพที่ประกอบด้วยแบบแผนความคิด จิตสำนึกและความมั่นคงทางอารมณ์ซึ่งมีผลต่อการกำหนดรูปแบบพฤติกรรม

คนที่มีพฤติกรรมไปในทางก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงเป็นประจำมักมีผลพวงมาจากในวัยเด็กที่มีความบกพร่องในการปรับอารมณ์และจิตใจให้เท่าทันสถานการณ์ เกิดสภาวะความเครียด วิตกกังวล หรือรู้สึกโกรธได้ง่าย ขาดความยับยั้งชั่งใจและไม่สามารถประคับประคองตัวเองให้ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม มักยึดมั่นถือมั่นในความคิดและผลประโยชน์ของตัวเองจนขาดจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและมองโลกแง่ร้ายอยู่เสมอ ซึ่งโครงสร้างบุคลิกภาพเหล่านี้เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับวิธีการเลี้ยงดูตั้งแต่ในวัยเด็ก

การจะสร้างสังคมที่ปราศจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงต่อกันในวันนี้จึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเป็นสำคัญ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลเอาใจใส่และเลือกใช้วิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม อันเป็นการป้องกัน ยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กไม่ให้ติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ โดยคำนึงถึงสิ่งสำคัญ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.สร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ – พื้นฐานที่มั่นคงของครอบครัวล้วนเกิดจากการให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่คือการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพให้กับลูกๆ ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เปิดพื้นที่และใช้เวลาร่วมกันอย่างเหมาะสม การสื่อสารที่ซื่อตรงและชัดเจน มีความเข้าอกเข้าใจกัน พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจกันเสมอ

2.หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง – ความไม่ลงรอยกันในครอบครัวมีแต่สร้างผลทางลบต่อเด็ก สภาพครอบครัวที่แตกแยกไม่เข้าใจกัน มีปากเสียงพูดจาไม่ดีใส่กันเป็นประจำ บรรยากาศที่มีแต่ความขัดแย้ง ต่างคนต่างอยู่ มักสร้างความสับสนและวุ่นวายใจให้กับเด็ก มีแนวโน้มที่เด็กจะเกิดความเครียดและวิตกกังวลจนขาดความมั่นใจในตัวเอง มีปัญหาสภาพจิตใจและความมั่นคงทางอารมณ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์

3.ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย – ด้วยข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตทำให้ครอบครัวจำนวนหนึ่งละเลยไม่ใส่ใจความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความคิดและจิตใจของเด็กเท่าที่ควร ขณะที่คุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่งหวังผลเลิศจึงเร่งรัดการเรียนรู้ของเด็กมากเกินวัย ความไม่พอดีเหล่านี้เองที่ทำให้เด็กเกิดความสับสนในบทบาทของตัวเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและการกำหนดตัวตนในทิศทางที่เหมาะสม

4.พัฒนาทักษะรอบด้าน – นอกจากคำนึงถึงพัฒนาการตามวัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้เด็กๆได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเพื่อพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม การสื่อสาร ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การวางแผนและทำงานตามลำดับขั้นตอน หรือทักษะในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การทำบทบาทหน้าที่ของตัวเอง สร้างวินัยและความรับผิดชอบ อดทนต่อสภาพปัญหาและความยากลำบาก สร้างความเข้มแข็งในจิตใจ เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง

5.หมั่นสังเกตพฤติกรรมก้าวร้าว – การปล่อยปละละเลยหรือตามใจเด็กมากจนเกินไปมักไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ อาทิ เอาแต่ใจตัวเอง เรียกร้องความสนใจหรือแสดงความไม่พอใจด้วยการโต้เถียงด้วยอารมณ์ ไม่รับฟังเหตุผล ขว้างปาและทำลายสิ่งของ ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อพบปัญหาคุณพ่อคุณแม่ต้องระงับยับยั้ง ตักเตือนและแนะนำด้วยเหตุผลเสมอ

6.ควบคุมสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม – สภาพแวดล้อมทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย โรงเรียนและเพื่อนล้วนมีส่วนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบพฤติกรรมของเด็ก เช่นเดียวกับในโลกดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว การแสดงความคิดเห็นและตอบโต้ด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสมในสื่อสังคมออนไลน์จึงสามารถบ่มเพาะพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงได้โดยง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องคอยสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมของเด็กไปในทิศทางบวกอยู่เสมอ

การยุติพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงในสังคมที่ตั้งอยู่บนความขัดแย้งและการแก่งแย่งแข่งขันดูจะเป็นความพยายามที่ต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย การให้ความสำคัญกับรากฐานครอบครัวที่ดีจะเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กๆในวันนี้จะเป็นอนาคตที่ดีให้กับสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น