ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและเต็มเปี่ยมด้วยความสุขของคนสองคนนั้นถูกหล่อเลี้ยงด้วยความรักเสมอ ในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไปต่างฝ่ายต่างก็เติบโตและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันโดยมีความรักเป็นสื่อกลาง ทุกสิ่งทุกอย่างดูราบรื่นและเข้าทีไปหมดจนนึกไม่ออกเลยว่าเมื่อถึงทางตันคู่รักที่เคยอยู่เคียงข้างกันจะแปรเปลี่ยนเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่ไม่มีวันอภัยให้กันไปได้
“รักที่เป็นพิษ” หรือ Toxic Relationship เป็นคำที่สื่อถึงสภาวะความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนจากความรักและความหวังดีที่มีต่อกัน มาเป็นความขัดแย้งที่ต้องการทำลายหรือตอบโต้เพื่อทำให้อีกฝ่ายได้รับความทุกข์และรู้สึกถึงความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะโดยการใช้คำพูดดูหมิ่นทิ่มแทงจิตใจ กล่าวหาให้ร้าย แสดงท่าทีเมินเฉยไม่สนใจใยดี ประชดประชัน หรือแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงต่อกัน
สิ่งที่ดูใกล้เคียงน่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่า ยิ่งรักมากก็ยิ่งเจ็บปวดมาก ไม่มีใครรู้ได้ว่าความรักที่เคยหวานชื่นจะแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ เกลียดและเคียดแค้นเมื่อไร แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เริ่มรู้สึกว่าความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง สะสมความอึดอัดคับข้องใจและไม่พอใจต่อกันในหลายๆเรื่อง ท้ายที่สุดจึงเลือกที่จะปลดปล่อยความเจ็บปวดทั้งหมดที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำนี้ไปให้กับคนที่เคยรัก
ปัญหาพฤติกรรมที่บั่นทอนความสัมพันธ์ของคู่รักและการเลือกที่จะตอบสนองต่อสภาพความไม่พอใจในความสัมพันธ์ที่กำลังดำเนินไปจนเกิดรักที่เป็นพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแสดงออกไปในทิศทางที่รุนแรงทั้งทางคำพูดและการกระทำเพื่อตอบโต้อีกฝ่ายนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ
1.ปัจจัยด้านตัวบุคคล - ภูมิหลังทางครอบครัวและวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันนับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คู่รักประสบปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในวัยเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่แตกแยก มีปากเสียงทะเลาะกัน หรือถูกกลั่นแกล้งรังแกอยู่บ่อยครั้ง ขาดความรัก ความอบอุ่นและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ เกิดความเครียดและวิตกกังวลในการสร้างความสัมพันธ์ ตลอดจนเก็บประสบการณ์ที่ไม่ดีมาใช้ในลักษณะของพฤติกรรมเลียนแบบ
2.ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ - คู่รักที่เพิ่งเริ่มความสัมพันธ์โดยมากมักพบแต่ความน่าหลงใหลและดึงดูดใจ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างพยายามเปิดใจเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วอาจมีพื้นฐานครอบครัว ความชอบ ความสนใจ หรือแม้แต่รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นเป็นเหตุผลว่าเมื่อถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเป็นตัวของตัวเอง จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ มีปัญหากระทบกระทั่งจากเรื่องเล็กน้อยขยายไปเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นจนยากจะยอมรับและหมดความอดทนที่จะใช้ชีวิตร่วมกันได้
3.ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม - สภาพแวดล้อมในที่นี้หมายรวมถึงบุคคลใกล้ชิดที่อยู่รอบตัว โดยทั่วไปแล้วชีวิตคู่มักเริ่มจากคนสองคน แต่เมื่อจริงจังถึงการสร้างครอบครัวร่วมกันก็จะไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับปัญหาความไม่ถูกชะตาและไม่ลงรอยกันกับญาติพี่น้อง กลุ่มเพื่อนสนิท หรือแม้แต่คำแนะนำจากโลกโซเชียล ที่อาจเข้ามาเพราะความหวังดี ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ หรือแค่มีอคติ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากและมักสร้างความลำบากใจให้กับคู่รักจำนวนไม่น้อย
ไม่ว่ารักที่เป็นพิษจะเป็นผลมาจากปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกันก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือหลากหลายพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่คู่รักแสดงออกต่อกันซ้ำไปซ้ำมาจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ แปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความสุขมาเป็นความขัดแย้งซึ่งยากที่จะกลับมาดีได้ดังเดิม กล่าวคือ
1.ขาดการสื่อสาร - การสื่อสารที่ดีทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน การไม่พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาทั้งโดยคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องรู้ความต้องการของตนเองเสมอ หรือเป็นความไม่คาดหวังเพราะพูดไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมาจึงแสดงถึงท่าทีเมินเฉยและไม่ใส่ใจ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดและเกิดความขัดแย้งได้ง่าย
2.ไม่ไว้วางใจ - การแสดงความเป็นเจ้าของหรือหึงหวงอีกฝ่ายอย่างชัดเจน มีการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตและติดตามทุกการกระทำ เป็นการแสดงออกที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดใจที่ไม่ได้รับความไว้วางใจและขาดอิสระในการใช้ชีวิตในแง่มุมส่วนตัว จนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่
3.ชอบตัดสิน - การเคารพ ให้เกียรติและรักษาน้ำใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ความรักมั่นคงและยืนยาว ในทางตรงกันข้ามหากต่างฝ่ายต่างก็มีแต่เรื่องตำหนิและตัดสินอีกฝ่ายในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตอกย้ำแต่ความผิดและความไม่ดีจนอีกฝ่ายแทบไม่มีที่ยืนในความสัมพันธ์ที่สร้างร่วมกันมา
4.ชอบเปรียบเทียบ - ความสัมพันธ์มีรากฐานมาจากการยอมรับในตัวตนของกันและกัน บ่อยครั้งที่การวิจารณ์หรือให้คำแนะนำโดยการนำอีกฝ่ายไปเปรียบเทียบว่าคนอื่นทำได้ดีกว่าหรือทำไมไม่เป็นเหมือนคนอื่น มีแต่จะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับอีกฝ่ายมากกว่าจะทำให้อะไรดีขึ้น
5.ไม่มีจุดหมาย - ความรักคือการรักษาสมดุลระหว่างการหยิบยื่นและรับไว้ ต่างฝ่ายจึงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน เมื่อใดที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยไม่ใส่ใจ มีความสัมพันธ์เพียงให้ผ่านพ้นไปวันๆ ขาดการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อสร้างจุดหมายร่วมกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้
หลากหลายพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ตามที่กล่าวมาข้างต้น หากเกิดขึ้นเป็นปกติในความสัมพันธ์ที่แม้จะเคยราบรื่นและเป็นสุข เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนความรักให้เป็นความเกลียดชังได้ ความรู้สึกเศร้าเสียใจเมื่อไม่สมหวังในความรักจึงเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธ เกลียดและเคียดแค้นที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำด้วยแรงพิษรักนั้น มีแต่จะสร้างความทุกข์ใจที่ยากแก่การลบเลือนไว้ในใจของทั้งสองฝ่าย คำถามสุดท้ายคือ เลือกที่จะหยุดหรือว่าไปต่อ
หากเลือกที่จะไปต่อก็จำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมร้ายๆต่อกัน สิ่งสำคัญคือ เป้าหมาย การสื่อสารและการรักษาน้ำใจกัน แต่หากเลือกที่จะหยุด ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะไม่เปลี่ยนความรักเป็นยาพิษมาทำร้ายกัน จดจำแต่เรื่องราวดีๆที่มีให้กัน เพื่อให้ความรักเป็นความสัมพันธ์ที่งดงามเสมอ