xs
xsm
sm
md
lg

COVID-19 วิกฤติที่สร้างการเรียนรู้ในครอบครัว/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19ที่มีความคืบหน้าจากทั่วทุกสารทิศในทุกวัน ทุกชั่วโมง ผู้คนติดตามข่าวสารข้อมูลกันแทบจะตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

กิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมากไปรวมตัวกันก็จะทยอยประกาศยกเลิกหรือเลื่อนไปก่อน ต้องงดเดินทางไปต่างประเทศแม้จะซื้อตั๋วไว้แล้วก็ตาม หรือแม้แต่ข่าวร้ายๆ ประเภทไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้แถมราคาแพงอีกต่างหาก เจลล้างมือแอลกอฮอล์ก็หายากมีราคาแพง หรือแม้แต่เริ่มมีการกักตุนสินค้า บางคนกระทบรายได้ต้องถูกลดเงินเดือนหรือให้ลาแบบไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะเจ้าของธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ฯลฯ

เรียกว่าในแต่ละวันเราเสพแต่ข่าวลบๆ แทบทุกวัน ก็ทำให้สมองหนักอึ้งได้เหมือนกัน

จริงอยู่ว่าบางเรื่องเราไม่อาจแก้ไขได้ แต่เราก็สามารถเปลี่ยนวิธีคิดได้ !

ลองเปลี่ยนวิธีคิดสักนิด เราจะพบว่าวิกฤติที่เรากำลังเผชิญร่วมกันอยู่ มันมีข้อดีบางประการที่ทำให้เราสามารถหยิบยกมาเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวได้ด้วย

อะไรบ้าง ?

หนึ่ง - ได้วางแผนชีวิต
การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ทำให้เราคิดมากขึ้น จะมีการเตรียมตัวมากขึ้น ถ้าต้องไปในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านก็จะใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรืออุปกรณ์ที่คิดว่าจะช่วยเรื่องความสะอาดได้ พอไปถึงที่หมายก็พยายามล้างมือบ่อยๆ หรือเวลาไปรับประทานอาหารที่ไหนก็จะเรียกหา “ช้อนกลาง” ทุกครั้ง ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่ดี ที่ควรกระทำอยู่แล้ว แต่เราก็ละเลยมันไป เมื่อเกิดเหตุการณ์การระบาดครั้งนี้ จึงทำให้เกิดการตระหนักอย่างมาก และถ้าสามารถทำสิ่งเหล่านี้จนติดเป็นนิสัยก็จะทำให้เราสามารถป้องกันตัวเองในภายภาคหน้าได้ด้วย

สอง -ได้ฝึกสติ
การแพร่ระบาดครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นการช่วยฝึกสติได้ดี ทำให้เรากลับมาอยู่กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น รู้เนื้อรู้ตัวในการใช้ชีวิต และพยายามปฏิบัติตัวด้วยการหมั่นเตือนและตรวจสอบตัวเอง เข้าใจว่าจะใช้ชีวิตให้ปลอดภัยต้องดำเนินชีวิตอย่างไร รู้วิธีปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ ไม่เผลอไปจับใบหน้าของตัวเอง การล้างมือ การใช้ลิฟต์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เมื่อก่อนอาจไม่ได้ใส่ใจนัก แต่เมื่อเกิดการระบาดขึ้นมา ก็ทำให้เราต้องดำรงตนอยู่บนความไม่ประมาท และมีสติกับตัวเองมากขึ้น

สาม -ได้ฝึกแก้ปัญหา
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ลองสำรวจดูว่าเราได้มีโอกาสฝึกทักษะชีวิตเพิ่มมากขึ้นไหม เนื่องจากความต้องการช่วยเหลือหรือปกป้องตัวเองท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติร่วมกัน สิ่งที่ตามมาก็คือการแย่งสินค้า การกักตุนสินค้า เช่น หน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน และหาซื้อไม่ได้ ก็ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาหาทางป้องกันตัวเองในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ทำหน้ากากอนามัยผ้าด้วยตัวเอง ทำเจลล้างมือแอลกอฮอล์เอง หรือการอยู่บ้านไม่ออกไปไหน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติเราจะไม่มีโอกาสได้ทำหรือแม้แต่คิดถึงสิ่งเหล่านี้เลย

บางคนก็เพิ่มสเต็ปด้วยการทำเพื่อแบ่งปันให้กับเพื่อนพ้องหรือญาติพี่น้อง แต่บางคนก็ทำเพื่อขายก็มี

สี่ - ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย
ท่ามกลางสถานการณ์นี้ ทำให้เราลุกขึ้นมาใช้เทคโนโลยีในการจัดการชีวิตมากขึ้นแทบจะทุกภาคส่วน ถ้าเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ใช้วิธีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ใช้วิธีสอบผ่านออนไลน์ ส่วนองค์กรที่ทำงานบางแห่งก็ใช้วิธีให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน และออกแบบการทำงานที่บ้าน หรือแม้แต่บริษัทที่ต้องทำงานกับชาวต่างชาติ ช่วงนี้ก็ใช้วิธีติดต่อผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก

จริงๆ ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะให้เกิดการเรียนการสอน หรือการทำงานผ่านออนไลน์ แต่ด้วยความเคยชิน และยังไม่อยากเปลี่ยนแปลง หรือประวิงเวลาไปเรื่อยๆ จึงผัดผ่อนไปเรื่อย พอมาถึงสถานการณ์เช่นนี้ จึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์ หรือคิดสิ่งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยังคงทำงานได้ แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหาจนได้

ซึ่งจะว่าไปแล้ว น่าจะถือโอกาสนี้ในการวางแผนในอนาคตถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยซะเลย

ห้า - ฝึกจิตสำนึกสาธารณะ
เป็นเรื่องที่จำเป็นในสถานการณ์วิกฤติ เพราะต้องไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ต้องคิดถึงผู้อื่น และผลกระทบที่จะตามมาด้วย ควรงดเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือถ้าต้องไปหรือไปมาแล้ว ก็ต้องไม่ปิดบังข้อมูล และให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่รัฐ และจะต้องกักตัวเองตามระยะเวลาที่กำหนดได้ด้วย รวมถึงการให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆอย่างจริงจัง

รวมไปถึงการจัดงานต่างๆ ที่ต้องทำให้ผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก ก็อาจต้องยกเลิกหรือเลื่อนไปก่อน เพราะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในระดับสำคัญ ถ้าคิดถึงแต่เพียงสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว เลยปล่อยให้เลยตามเลย สุดท้ายถ้ามีใครสักคนไปร่วมงานแล้วมีการแพร่เชื้อโดยที่เขาอาจไม่รู้ตัว ผลกระทบที่ตามมามันใหญ่หลวงกว่ามาก เพราะถึงขณะนี้ต้องยอมรับว่าทุกคนล้วนแล้วมีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องเสียสละร่วมกัน

หก - ฝึกให้รู้เท่าทันสื่อ
เรื่องสื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะระบาดไปพร้อมๆ กับโรคระบาด จะมีทั้งข่าวจริงข่าวลวง ข้อมูลจริง ข้อมูลลวง และมีสารพัดเรื่องราวบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้ผู้คนต้องมีสติ และพยายามรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ ประเด็นคือต้องดูที่มาของข้อมูลข่าวสารนั้นๆและไม่มีความจำเป็นต้องส่งต่อไปอีก

เจ็ด - ฝึกให้ลูกเรียนรู้จากวิกฤติ
มองในแง่ดี ถือโอกาสนำวิกฤติร่วมของสังคม มาสร้างการเรียนรู้ร่วมในครอบครัว ชวนลูกพูดคุย จากสถานการณ์จริงให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร และให้สะท้อนว่าเขาคิดอย่างไร โดยสอดแทรกประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยได้อย่างไร และเมื่อเขาเจอสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร กระตุ้นให้เขาคิด ให้เขาเห็นภาพ เพราะสถานการณ์จากนี้ไป โอกาสที่ลูกหลานของเราจะเผชิญวิกฤติใหญ่ๆ อีกอย่างแน่นอน เราจึงควรสอนให้เขามีทักษะในการจัดการชีวิตของตัวเองในรูปแบบของเขาได้ด้วย

รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศว่ามีแนวทางอย่างไร มีปัญหาอะไร และแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงภาวะผู้นำของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการสอดแทรกการเรียนรู้ให้ลูกได้ด้วย

ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ “หาให้เจอ มองให้เห็น อยู่ให้เป็น” จะได้ไม่เครียดค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น