สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ยังคงสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คนอย่างมาก และทำให้ผู้คนต้องติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวการระบาดของ COVID-19 กลับมาสร้างความหวั่นใจอีกครา หลังจากหลายประเทศนอกประเทศจีน กำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงขึ้น และพบผู้ป่วยเริ่มไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศต้นทาง ซึ่งก็หมายความว่าเริ่มมีการระบาดจากคนในประเทศด้วยกันเอง
ในทางระบาดวิทยา ถือว่าเป็น Phase 3 !
การระบาดในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นระดับที่ควบคุมได้ยาก เพราะไม่สามารถจะหาจุดเชื่อมโยงแหล่งที่มาได้ เชื้อโรคมีการแพร่กระจายได้มากและเร็ว จึงไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นการระบาดที่รุนแรงขึ้น ทั้งในญี่ปุ่นเกาหลีใต้อิตาลี และอิหร่าน ล้วนมีตัวเลขผู้ป่วยที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย
จะเห็นได้ว่ามีมาตรการจากหน่วยงานภาครัฐทั้งจากบ้านเรา และจากหลายประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก
แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือกรณีของป้าวัย 61 ปี ที่อาศัยในเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถูกจับจ้องว่าเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อCOVID-19 อย่างรวดเร็วในเกาหลีใต้เนื่องจากพบว่าเธอเป็นสาวกของลัทธิซินชอนจิที่เชื่อว่าผู้ที่ก่อตั้งลัทธิจะอยู่ยงคงกระพันมีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเป็นประจำและระหว่างประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของลัทธิ สาวกต้องนั่งใกล้ชิดบนพื้นชนิดที่แทบจะหายใจรดต้นคอกัน เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค เพราะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยด้วย
แม้ป้าจะไอและจามก็ยังดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถขนส่งสาธารณะ ไปห้างสรรพสินค้า รวมทั้งไปโบสถ์ ซ้ำยังปฏิเสธการตรวจเชื้อดังกล่าวด้วย สุดท้ายกว่าป้าจะยอมให้ตรวจก็ล่วงเลยเป็นสัปดาห์ จนถึงวันที่ 17 ก.พ. เมื่อตรวจจึงพบว่าติดเชื้อ กลายเป็นผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้
ประเด็นคือ แล้วช่วงสัปดาห์ที่ผ่านไป ป้าไปห้างสรรพสินค้าไปโบสถ์ ฯลฯ และต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชนนับพันคน นั่นหมายความว่ามีผู้คนที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทันทีแบบไม่รู้ตัว
จนทางการของเกาหลีใต้ต้องออกมาตรการมากมาย เพื่อสกัดไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายลามไปทั่วเพราะพบตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
และเป็นจุดที่ทำให้ทุกประเทศก็ผวามิใช่น้อย รวมถึงบ้านเราด้วย มีมาตรการจากภาครัฐที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ แทบจะรายวัน
ตั้งแต่คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ควรปฏิบัติตนดังนี้
1. ก่อนการเดินทาง ขอให้หาข้อมูลสถานการณ์การระบาดของประเทศปลายทาง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือ องค์การอนามัยโลก หากไม่จำเป็นขอให้พิจารณาหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศ แต่หากจำเป็นต้องไปขอให้เตรียมความพร้อมเรื่องการป้องกันตนเอง เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และศึกษาคำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ
2. ระหว่างการเดินทาง ขอให้ระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนรวมกันอยู่จำนวนมากหรือที่สาธารณะ ขอให้หมั่นล้างมือ อย่าขยี้ตา แคะจมูก ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน หากเจ็บป่วยให้ประสานขอความช่วยเหลือกับสถานทูต
3. เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยไม่มีนโยบายการกักตัวผู้เดินทางที่สนามบิน แต่มีมาตรการการตรวจคัดกรองและการเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วัน หากมีอาการป่วยระหว่างเข้าประเทศ จะถูกแยกตัวไว้เพื่อตรวจวินิจฉัยและส่งไปที่โรงพยาบาลที่กำหนด แต่หากไม่มีอาการป่วยจะได้รับบัตรคำเตือนสุขภาพพกติดตัวไว้ เมื่อกลับบ้านแล้วมีอาการสงสัยป่วยขอให้สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ทุกวัน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง
ในขณะที่การคัดกรองที่สนามบิน หรือด่านต่างๆ สามารถวัดผลได้แค่ 10% เท่านั้น เพราะยังอยู่ในระยะช่วงที่ยังไม่แสดงอาการ หากมีผู้ติดเชื้ออาการยังไม่ปรากฏ จึงขอความร่วมมือสำหรับคนที่กลับมาจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง ให้รับผิดชอบตนเอง โดยกักตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน และหากมีอาการที่บ่งบอกจะติดเชื้อให้รีบพบแพทย์ทันที
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้โรคติดเชื้อCOVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย
ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของสถานศึกษา ในสังกัดหรือในกำกับ ซึ่งเดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงอันอาจติดเชื้อCOVID-19 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า มาเลเซีย เวียดนาม
เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ให้ผู้นั้นมีหน้าที่ไปรับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเชื้อโรคดังกล่าว ณ โรงพยาบาล ในวาระแรกที่สามารถกระทำได้ แล้วรายงานผลการตรวจดังกล่าวต่อหัวหน้าสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่สังกัดแล้วแต่กรณี ถ้าหากตรวจพบหรือมีภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคดังกล่าว ให้หัวหน้าสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่สังกัดแล้วแต่กรณี พิจารณาสั่งให้ผู้นั้นงดเข้าชั้นเรียน หรือหยุดมาปฏิบัติงาน เพื่อรับการรักษาจนหายเป็นปกติ หรือเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่กลับมาถึงประเทศไทย โดยไม่ถือเป็นการขาดเรียนหรือขาดการปฏิบัติงานหรือขาดการปฏิบัติราชการ และไม่นับเป็นวันลา
ประเด็นที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนหวั่นใจไม่น้อย แต่ภาครัฐเองก็พยายามร้องขอไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ต่างๆ เพราะไม่เป็นผลดีต่อการจัดการปัญหาต่างๆ
ใช่ค่ะ..ไม่ควรตื่นตระหนกแต่ต้องตื่นจิตสำนึก
เพราะสถานการณ์วิกฤตและเป็นปัญหาร่วมกันของประเทศ และของโลก ยิ่งต้องการให้ผู้คนมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมอย่างน้อยก็ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง และคิดถึงใจเขาใจเรา อย่ามักง่าย และคิดถึงตัวเองเท่านั้น
หนึ่ง - อย่าพาตัวเองไปสถานที่เสี่ยง
เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเอง ที่จะไม่พาตัวเองไปในสถานที่เสี่ยง เพราะเราอาจคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เรายังแข็งแรง ก็แล้วถ้าเราไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเรากลายเป็นพาหะแล้วนำมาติดผู้คนในครอบครัวล่ะ หรือถ้ามีพ่อแม่หรือผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้าน แล้วเรานำพาเชื้อโรคมาติดท่านล่ะ
สอง - งดเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง
ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลื่อนหรือเลี่ยงไปก่อนจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับประเทศได้มากเลยทีเดียวยิ่งช่วงนี้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซา ราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศและที่พักก็จะลดกระหน่ำ ยั่วยวนใจให้กับผู้คนไม่น้อย บางคนคิดแบบมักง่ายเห็นว่าราคาถูกก็ไป ไม่สนใจคำเตือนต่างๆ เอาตัวเองเป็นหลัก เพราะคิดว่าตัวเองไม่เป็นไรหรอก เลยตัดสินใจไปเที่ยว ที่น่าเศร้าใจหนักขึ้นไปอีก กับวิธีคิดที่ว่ากลับมาถูกกักตัว 14 วันก็ดีซะอีกไม่ต้องไปทำงาน
แต่ถ้าคุณต้องเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงจริงๆ สิ่งสำคัญต้องไม่ปิดบังข้อมูล และให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่รัฐ และจะต้องกักตัวเองตามระยะเวลาที่กำหนดได้ด้วย
สาม - ป้องกันตัวเองเบื้องต้น
ควรให้ความสำคัญกับมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”แบบจริงจัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะความเสี่ยง การล้างมือบ่อยๆ หรือพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องระมัดระวัง และสอนวิธีปฏิบัติให้กับลูกหลานของเราด้วย รวมไปถึงการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่แออัดหรือผู้คนพลุกพล่านด้วย
สี่ - ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ
มาตรการต่างๆจะสำเร็จได้ ผู้คนต้องให้ความร่วมมือด้วย ถ้าทุกคนคิดถึงแต่ตัวเอง เอาตัวเองสะดวก ไม่คิดถึงส่วนรวม สุดท้ายเราก็คงไม่ต่างจากป้าแห่งเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ ที่ปฏิเสธการตรวจหาเชื้อ จนมาพบในภายหลังทำให้สถานการณ์ลุกลาม และกลายเป็นปัญหาใหญ่
หรือกรณีที่ขอให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องหรือมีการระบาดภายในประเทศ ได้แก่ จีน ( ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ขอให้รับผิดชอบสังคมโดยการเฝ้าระวังอาการตนเองอย่างน้อย 14 วัน งดไม่ไปที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ก็ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ห้า - ถือโอกาสเที่ยวเมืองไทย
สถานการณ์อย่างนี้ ทำให้บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในบ้านเราซบเซากันเลยทีเดียว ถือโอกาสช่วงนี้งดไปต่างประเทศ แล้วหันมาเที่ยวภายในประเทศ ไทยเที่ยวไทย ก็คือไทยช่วยไทยในสถานการณ์หนักหน่วง ก็เท่ากับช่วยกันพยุงเศรษฐกิจของประเทศด้วย
เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็นการระบาดเป็นวงกว้าง หลายประเทศได้รับผลกระทบครั้งนี้ตามมาใหญ่หลวงนัก กระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เนื่องจากต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่าง อย่างเช่นจีน มีการปิดโรงงาน พักการทำงาน ชะลอการผลิต ส่งผลต่อการส่งออกสินค้า และธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ร้านค้าก็หยุดชะงัก
หากไทยเจอการระบาดแบบนี้ ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ให้แย่เพิ่มขึ้นอีก
หวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น !
เราต้องไม่ตื่นตระหนกเกินไป แต่ควรต้องตื่นจิตสำนึกที่จะช่วยกันระมัดระวังตามตัวอย่างอย่างน้อย 5 ประการที่กล่าวมา
ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเราแต่ละคน แต่เพื่อสังคมโดยรวมเป็นสำคัญ