xs
xsm
sm
md
lg

เพราะเป็น‘เด็ก’จึงเจ็บปวดซ้ำซาก !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ร้าย และ “เด็ก” ต้องตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์มักจะทำให้เกิดความรู้สึก “มากกว่า” ปกติ เช่น เสียใจมากกว่าปกติ โกรธมากกว่าปกติ ลุ้นมากกว่าปกติ ฯลฯ และถ้าเด็กปลอดภัยก็จะดีใจมากกว่าปกติ

นั่นเป็นเพราะพวกเราทุกคนเคยผ่านวัยเด็ก เคยสัมผัสกับเด็ก และรับรู้ว่าเด็กวันนี้คืออนาคตวันหน้า

แต่เราก็มักพบว่าเด็กมักตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

ล่าสุดในเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชในห้างสรรพสินค้า พบผู้เสียชีวิตรวม 30 ศพ มีเด็กอยู่ด้วย ทั้งเด็กเล็ก และเด็กโต สร้างความสะเทือนใจยิ่งต่อคนทั้งโลก เราคนไทยต้องมาเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่ไม่คิดว่าจะเกิดในบ้านเรา

ตลอดช่วงเวลาที่เกิดเรื่อง สื่อตกเป็นจำเลยของสังคม แม้จะมีสื่อทั้งที่ดีและสื่อที่แย่ก็ตาม แต่โดยภาพรวมสื่อก็ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อสังคมโดยรวม ต่อการทำหน้าที่ในการรายงานข่าวแบบพร่องจรรยาบรรณ และจริยธรรม จนส่งผลกระทบมากมาย และทำให้ประชาชนทั่วไปไม่พอใจ

ที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุการณ์ร้ายๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ดูเหมือนก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพในการนำเสนอ หรือระมัดระวังมากขึ้น แต่กลับมองแต่ประเด็นเรื่องเรตติ้ง หรืออยากทำให้เกิดยอดไลค์มากๆ โดยไม่ได้สนใจเรื่องความเหมาะควรของวิชาชีพ

ไม่อยากคิดว่าคนทำสื่อทั้งในสื่อหลักและสื่อออนไลน์จะไม่รู้ว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควร เพราะนี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก แต่เราผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ เรื่องความรุนแรงมาหลายครั้ง และแต่ละครั้งก็จะมีผู้เชี่ยวชาญและประชาชนจำนวนมากออกมาตำหนิการทำงานของสื่อที่เผยแพร่ภาพไม่เหมาะสม หรือผลิตซ้ำความรุนแรง เพราะกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคม

จนบางทีก็เกิดคำถามเหมือนกันว่าบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ช่วยให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในการนำเสนอข่าวเลยกระนั้นหรือ !

เรื่องผลทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่พูดกันมามาก แต่ดูเหมือนปัญหาที่มีมาเป็นทศวรรษก็ยังอยู่

เมื่อเร็วๆ นี้ได้พบเรื่องเล่าชิ้นหนึ่ง พยายามค้นหาที่มาของเรื่องเล่า แต่ก็พบเพียงว่า “@เรื่องเล่าจากเน็ต” และแม้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเล่า แต่เป็นเรื่องที่สะท้อนความรู้สึกที่ระมัดระวังและให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะตามมาของเด็กน้อยคนหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าที่สร้างความรู้สึกที่ดีและคำนึงถึงจิตวิทยาเด็กได้อย่างน่าทึ่ง

…………………..
ที่ธนาคารในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในอเมริกา โจรปล้นธนาคาร แล้วไม่ได้เงินโจรจึงจับเด็กชายวัย 5 ขวบคนหนึ่งเป็นตัวประกัน และบอกกับตำรวจที่ล้อมอยู่ข้างนอกให้หาเงิน 5แสนดอลล่าร์พร้อมกับรถยนต์คันหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะฆ่าเด็ก

เมื่อ"เนลสัน"นักจิตวิทยามาถึง เขาพยายามดึงเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆประจำในจุดที่จะคุ้มครองตัวประกันทั้งหมดได้

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าโจรกำลังจะลงมือฆ่าเด็ก จึงยิงปืนใส่หัวของคนร้ายจนล้มลงไปกองกับพื้น เด็กชายล้มลงไปพร้อมกับเลือดของคนร้ายที่สาดกระเด็นมาเปื้อนใบหน้าและเสื้อผ้า เสียงร้องไห้จ้าด้วยความหวาดกลัวสุดขีดของเด็กน้อยดังขึ้น

เป็นช่วงเดียวกับที่"เนลสัน"วิ่งเข้าไปกอดเด็กเพื่อปลอบใจพอดี

ในช่วงชุลมุนของนักข่าวที่ต่างพากันถือทั้งกล้องและไมค์กรูเข้ามาทำข่าวและถ่ายภาพ จู่ๆ "เนลสัน"ก็ตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า

“จบการฝึกซ้อม ทุกคนช่วยกันเคลียร์พื้นที่!”

ทุกคนในเหตุการณ์ต่างตกตะลึงในสิ่งที่เนลสันตะโกนออกมา รวมทั้งเด็กน้อยวัย 5 ขวบก็หยุดร้องไห้และมองไปที่ใบหน้าของ"เนลสัน"อย่างฉงน

“แม่ครับ เขาฝึกซ้อมกันเหรอครับ?” เด็กน้อยถามออกไป

“ใช่จ้าลูก!”แม่ของเขาพยักหน้าตอบทั้งน้ำตา

ตำรวจหลายคนเดินเข้ามาชื่นชมเด็ก

“เจ้าหนู นายเก่งมาก นายแสดงได้ดีมากๆ!” พร้อมกับพากันยกนิ้วให้

วันต่อมา ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดลงข่าวโจรปล้นธนาคารเมื่อวานเลยแม้แต่ฉบับเดียว ต่างก็พากันปกป้องความรู้สึกของเด็กน้อยไม่ให้มีความหวาดผวาในเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวาน

หลายสิบปีผ่านไป... ชายวัยทำงานคนหนึ่งเดินทางมาขอพบ"เนลสัน" และเอ่ยถึงเหตุการณ์โจรปล้นธนาคารเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เขาถาม "เนลสัน"ด้วยความสงสัยว่าทำไมถึงตะโกนประโยคนั้นออกมา

“ตอนที่ผมได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ผมคิดว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้คงฝังใจให้เด็กน้อยคนนี้ผวาและหวาดกลัวจนไม่อาจมีความมั่นใจในชีวิตได้อีกต่อไป และเมื่อผมวิ่งเข้าไปใกล้เด็กน้อยคนนั้น พระผู้เป็นเจ้าก็ให้สติกับผมและให้ผมพูดคำว่าจบการฝึกซ้อมทุกคนช่วยกันเคลียร์พื้นที่” เนลสันตอบ

เมื่อ"เนลสัน"พูดจบ ชายคนนั้นก็เข้ามากอด "เนลสัน"ซึ่งแก่ชราลงมากแล้ว

“ผมถูกหลอกมา 30 ปี แม่เพิ่งบอกความจริงให้ผมทราบเมื่อไม่นานมานี้ ขอบพระคุณมากๆครับคุณลุงเนลสัน ขอบคุณที่ทำให้ผมมีชีวิตเป็นปกติเหมือนคนทั่วๆไป” เขาร้องไห้ออกมาด้วยความซาบซึ้งใจ

“คุณไม่ต้องขอบคุณผมหรอก หากจะขอบคุณ ก็จงขอบคุณนักข่าวและทุกคนในเมืองนั้นที่ช่วยกันโกหกคุณ”

…………………………….
เรื่องเล็กๆ ที่สร้างความประทับใจ และอยากกระตุกเตือนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายใดๆ ถ้าคนที่อยู่ในเหตุการณ์มีเด็กหรือคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เราจะเตือนตัวเองเสมอว่าอะไรควรและไม่ควร

ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย องค์การอนามัยโลกเคยให้หลักและแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวสารลักษณะนี้ไว้ว่าการรายงานข่าวของสื่อจะต้องลดจำนวนลงทั้งในการนำเสนอข่าวสดหรือการติดตามข้อมูลต่อเนื่องซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลาหลายสัปดาห์ รวมไปถึงการนำเสนอข่าวแต่เพียงข้อเท็จจริงโดยไม่เพิ่มสีสันรายละเอียดเชิงลึก "ดราม่า" หรือสิ่งกระตุ้นความน่าสนใจอื่น ๆ ลงในเหตุการณ์ที่นำเสนอ เพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบทั่วไปรวมถึงควรลดระดับความเข้มข้นของพาดหัวข่าว การลดรายละเอียดที่นำเสนอในข่าวหรือการรายงานข่าวซ้ำไปซ้ำมา ยุติการนำเสนอขั้นตอนการก่อเหตุ และควบคุมจำนวนภาพหรือวิดีโอที่เผยแพร่ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีชื่อเสียง

นอกจากนี้ในกรณีของผู้ก่อเหตุกราดยิงนั้นยังได้มีการเพิ่มนโยบายไม่เผยแพร่ชื่อ หรือ "Don’t Name Them" เพื่อลดการให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ และรวมไปถึงการปฏิเสธการเผยแพร่ข้อความหรือวิดีโอใด ๆ ของผู้ก่อเหตุ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีข้อเสนอแนะให้รายงานพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุในแง่ลบ เผยแพร่การกระทำของผู้ก่อเหตุในลักษณะที่เป็นเรื่องน่าอายหรือขี้ขลาด รวมทั้งให้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษอีกด้วย

การลดการให้ข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับสาเหตุของการก่อเหตุก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง เพื่อลดความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้ก่อเหตุและผู้สังเกตการณ์ลง

และถึงแม้สื่อจะไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวในเหตุการณ์กราดยิงและมีอีกหลายแนวทางที่ต้องนำมาปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน แต่ก็ได้มีการค้นพบว่าสื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลอันนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรายงานข่าวของสื่อและการวางหลักเกณฑ์วิธีการนำเสนอข่าว การสร้างความตระหนักรู้ให้กับโลกออนไลน์ รวมถึงกระแสสังคมที่ช่วยกันสร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นส่วนสำคัญที่จะป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศที่เลิกนำเสนอรูปคนร้ายในสื่อ เลิกการรายงานสดเหตุการณ์ ยกเลิกการนำเสนอคลิปเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ แล้ว เพราะมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาและอาชญาวิทยา ออกมาเตือนถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแบบนี้ว่านำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งจากผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า ข้อสันนิษฐาน ข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และอาชญาวิทยาเหล่านั้น ออกมาเตือนนั้นเป็นความจริง ย้ำว่า ไม่ควรมีการนำเสนอภาพคนร้าย รายละเอียด แผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คลิปเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ เพราะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จะทำให้คนร้ายทราบข้อมูลในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่งผลกระทบให้เจ้าหน้าปฏิบัติงานได้ยากขึ้น

จริงอยู่ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตของเด็ก ครอบครัวใดที่มีพื้นฐานของความรุนแรงย่อมก่อให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบด้วยการใช้ความรุนแรงเช่นกัน ยิ่งถ้าเด็กไม่ได้รับการอบรม ขาดแบบอย่างที่ดี หรือครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่เปราะบางย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้

เช่นเดียวกับโรงเรียน ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษแบบรุนแรงทำร้ายจิตใจหรือร่างกายแต่ควรเสริมบทเรียนด้านบวก ให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์แยกแยะ การรู้เท่าทันสื่อและการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับเด็ก ตลอดจนมีมาตรการจัดการความรุนแรงในโรงเรียนที่เหมาะสม

ในขณะที่สื่อมวลชนก็มีความสำคัญไม่แพ้กันที่สามารถสร้างกระแสหรือค่านิยมพฤติกรรมทางบวกหรือทางลบของบุคคลให้เกิดขึ้นได้ในสังคมเพราะบางสถานการณ์สื่ออาจสร้าง”ไอดอล” ด้านลบ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ฉะนั้นจึงควรร่วมกันสร้างค่านิยมที่ดีให้กับสังคม ด้วยการยึดจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดีในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ไม่นำเสนอความรุนแรงซ้ำๆ หรือนำเสนอข่าวสารด้วยอารมณ์หรือความเห็นที่รุนแรง หรือเน้นย้ำให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่หันมาเสนอถึงผลกระทบ การป้องกัน และการจัดการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมแทน ตลอดจนสังคมที่ควรร่วมกันเฝ้าระวัง แจ้งเตือนหรือแจ้งลบเพจที่มีข้อความที่ไม่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการส่งต่อข้อความเพราะเท่ากับเป็นการขยายความรุนแรงหรืออาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทางลบมากขึ้น

สื่อมีทั้งสองด้านจะเป็นสื่อด้านบวก คือสื่อสร้างสรรค์ หรือสื่อด้านลบ คือสื่อทำลาย

สื่อสร้างสรรค์ เป็นสื่อที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมด้านบวกช่วยพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศของความสงบสุข ร่วมกันหาทางออกเมื่อเกิดวิกฤต

สื่อทำลาย เป็นสื่อที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมด้านลบ ช่วยกระตุ้นให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือแม้แต่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

สื่อเลือกได้ว่าจะเป็นสื่อแบบไหน เพราะสุดท้ายสื่อที่ดีจะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาในอนาคตเสมอ

อย่าให้เด็กต้องเป็นเหยื่อของคำว่า “เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวดซ้ำซาก” เลยค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น