กรมสุขภาพจิต แนะฝึกสมองด้วย 5 กิจกรรม ฝึกได้ทุกที่ ทุกวัน ช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต พัฒนาสมอง เพิ่มความจำ ชะลอภาวะสมองเสื่อม ลดเครียด และลดภาวะซึมเศร้าได้
วันนี้ (17 ม.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฝึกสมองให้ตื่นตัวนั้น จะช่วยส่ง ผลดีต่อสุขภาพใจที่เข้มแข็ง สามารถช่วยป้องกันความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า ชะลอภาวะสมองเสื่อม ตลอดจนช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองได้ ซึ่งการฝึกสมองนี้ ไม่จำเป็นต้องฝึกจนหนักมากเกินไป แต่สามารถฝึกได้ง่ายๆ ทุกที่ ทุกวัน ทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน หรือทุกที่ ที่สะดวก ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ที่ทำทุกวันแล้วจิตใจดี มีดังนี้
1. สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ (Experience something new) เมื่อเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่ๆ สมองจะวิเคราะห์และปรับให้เข้ากับสถานการณ์ การฝึกสมองสามารถทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น เขียนหนังสือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เปลี่ยนเส้นทางใหม่จากบ้านไปที่ทำงาน เยี่ยมชมสถานที่ใหม่ที่ยังไม่เคยไป ฟังเพลงแนวอื่นๆ บ้าง พบปะผู้คนใหม่ๆ เป็นการพัฒนาความยืดหยุ่นของสมอง และการทำงานประสานกันระหว่างสมองทั้งสองข้างให้สมดุล
2. การติดต่อสื่อสารกับสังคมตามความเป็นจริง (Connect social) การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบตัวต่อตัว ฝึกให้สมองคิดและแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น สนทนากับผู้รับหรือส่ง E-mail ที่เรากำลังติดต่อ โต้ตอบกับผู้คนเป็นการส่วนตัวมากขึ้นหรือพบปะกันมากขึ้น ไปร่วมงานกิจกรรมทางสังคม เพื่อพัฒนาระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. การต่อจิ๊กซอร์ (Do puzzles) หรือการเล่นเกมต่างๆ ปริศนาคำทาย การถอดรหัส แนวความคิดเชิงนามธรรม การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และการหาคำตอบ จะช่วยให้สมองพัฒนา เช่น การเล่นเกมกระดานต่างๆ หมากรุก เกมปริศนาอักษรไขว้ เกม Sudoku ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ เพิ่มความจำ ลดภาวะสมองเสื่อม และสามารถวางแผนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
4. ดื่มด่ำกับความอยากรู้อยากเห็น และงานอดิเรกที่ชอบ (Indulge in your curiosities and hobbies) มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายในจักรวาล แต่ละชุมชนมีความเป็นมาของตนเอง ปลุกความสนใจเก่าๆ ขึ้นมา แล้วเริ่มต้นใหม่ โดยพิมพ์สิ่งที่สนใจลงใน google เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ จิตรกรรม ประวัติศาสตร์ หนังสือ บทกวี การเขียนหนังสือ เว็บไซต์ บล็อกต่างๆ เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทต่างๆ ให้ทำงานคล่องแคล่วว่องไวมากขึ้น
5. นอนหลับให้เพียงพอ (Getting enough sleep) สมองมีพลังเมื่ออยู่ในความเงียบสงบ การนอนหลับที่เพียงพอ คือ ช่วงเวลาที่ดีของการพัฒนาสมอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนอน จึงควรปรับปรุงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เช่น ปรับห้องนอนให้มืดที่สุด หลีกเลี่ยงการงีบในช่วงเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นก่อนนอน เช่น งดดื่มชา กาแฟ หรือเล่นมือถือ เชื่อมโยงการนอนหลับกับเตียงนอน เมื่อการนอนมีคุณภาพจะทำให้มีสมาธิ มองโลกในแง่ดี ผ่อนคลาย และช่วยลดภาวะเครียดซึมเศร้าได้
"สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กำลังดำเนินการทบทวนองค์ความรู้และเทคนิคที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อนำมาผลิตเป็นคู่มือสำหรับประชาชน ในการประเมินความแข็งแรงของสมองและแบบฝึกหัด ที่จะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต สำหรับให้ประชาชนสามารถประเมินและฝึกฝนด้วยตนเองได้ต่อไป" นพ.เกียตืภูมิกล่าว