สถาบันประสาทฯ เผยใช้สารกัญชา "ซีบีดี" รักษาผู้ป่วยลมชักรักษายากในเด็ก 4 ราย ลดอาการชักได้กว่า 75% ส่วนรพ.เด็ก 7 รายผลดีมากกว่า 50% ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการใช้ วอน อภ.ผลิตเพิ่ม ยังต้องการใช้อีกกว่า 2 พันขวด ผลข้างเคียงพบทำนอนหลับมากขึ้น อารมณ์ดีขึ้น
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้สารสกัดกัญชา "ซีบีดี" รักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กที่รักษายาก ว่า ผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กที่รับการรักษาด้วยสารซีบีดี มีทั้งหมด 11 ราย แบ่งเป็น สถาบันประสาทวิทยา 4 ราย สามารถลดอาการชักได้ดีถึง 75% และ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) 7 ราย ติดตามแล้วได้ผลมากกว่า 50% ส่วนเรื่องของผลข้างเคียง ค่าตับ ค่าไตต่างๆ ยังไม่มีอะไรน่ากังวล โดยพบ 1 รายมีอาการนอนหลับเยอะ แต่เมื่อลดขนาดยาลงก็ดีขึ้น รายหนึ่งส่งผลให้สิวลดลง อีกรายส่งผลทำให้อารมณ์ดี แต่ไม่ใช่อาการเมา เนื่องจากผู้ป่วยโรคลมชักมักมีคลื่นลมชักหรือกระแสไฟฟ้าในสมองที่ผิดปกติออกมาตลอดเวลา จนรบกวนสมองส่วนอื่น อาจทำให้ปกติดูไม่ค่อยมีอารมณ์แจ่มใสร่าเริง ถือเป็นโรคที่ทุกข์ทรมาน แต่หากรักษาได้ การเรียนหนังสือ อารมณ์ ความก้าวร้าวต่างๆ จะดีขึ้นด้วย
นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามียากันชักมากกว่า 20 ชนิด บางรายให้ยาทุกตัวแล้วไม่ดี ถ้าดื้อยาบางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายยากันชักมากว่า 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน บางราย 5 หมื่นบาทต่อเดือน ก็ต้องหาทางเลือกในการรักษา ซึ่งสารสกัดกัญชาก็เป็นหนึ่งทางเลือก แต่ยอมรับว่าในต่างประเทศก็ยังมีราคาแพงอยู่ คือ ซีซีละ 200 บาท หากประเทศไทยผลิตได้มากขึ้นและราคาถูกลงก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีการผ่าตัดรักษา ที่ต้องผ่านการประเมินถึงจุดที่ทำให้เกิดการชัก มีความเหมาะสมในการผ่าตัดหรือไม่ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากผ่าตัดได้ การรักษาก็ได้ผลมากขึ้น ลดความทุกข์ทรมาน ลดการใช้ยาและลดผลข้างเคียงของยา สำหรับการใช้สารสกัดกัญชารักษาในโรคอื่นๆ นั้น สถาบันฯ กำลังยื่นโครงการวิจัยใช้สารสกัดกัญชารักษาโรคพาร์กินสันและสมองเสื่อม ต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งหากผ่านก็สามารถทำได้ โดยจะต้องนำผู้ป่วยมานอนที่โรงพยาบาล ให้ยาทีละน้อย ละติดตามผล เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง เพราะยาอะไรก็ตามที่เริ่มใช้ หรือต่างประเทศใช้มาแล้ว และเริ่มใช้ในไทย ก็ต้องเริ่มเช่นนี้ในการใช้ยา เพราะถือความปลอดภัยคนไข้เป็นหลัก
พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สาเหตุที่คนไข้โรคลมชักในเด็กยังมีน้อย เพราะเรากังวลว่า สารซีบีดีที่ได้รับมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กว่า 200 ขวด ปริมาณขวดละ 10 ซีซี จะไม่เพียงพอรักษาติดตามไปจนถึง 1 ปี โดยปริมาณการใช้ยานั้น การใช้ตามมาตรฐาน คือ หากน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม จะใช้ประมาณ 200 มิลลิกรัม เช้าและเย็น ดังนั้น 1 วันจะใช้ 400 มิลลิกรัม หรือ 4 ซีซี 1 เดือนจึงใช้ 120 ซีซี หรือประมาณ 12 ขวดต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ทาง อภ.ก็ยังผลิตได้ไม่มาก ก็หวังว่า อภ.จะผลิตได้เร็ว จำนวนมาก และราคาถูกด้วย ซึ่งก็ประสานไปยัง อภ.แล้ว ว่าอาจจะต้องสนับสนุนให้แก่สถาบันฯ อีกประมาณ 2 พันกว่าขวด เพื่อส่งให้หมอลมชักในเด็กทั่วประเทศนำไปใช้ในรักษาผู้ป่วยที่จำเป็น เพราะสถานการณ์ขณะนี้ก็มีคนไข้ที่ไม่มีทางรักษาด้วยยาที่มีอยู่ หรือมียาน้อยลงที่จะใช้ ถ้ามีกัญชาอีกอันที่ผลิตได้ในประเทศและราคาถูก ก็น่าใช้ถ้าได้ผล เป็นการช่วยเศรษฐกิจประเทศ
"สารสกัดกัญชาที่ลดอาการชักได้กว่า 75% ผลดังกล่าวยังเป็นเพียงผู้ป่วยแค่ 4 ราย จึงยังไม่สามารถบอกอะไรได้มาก เพราะตัวแทนที่เอามาคือรักษายาก ก็ยังมีที่ยากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้จึงเทียบไม่ได้ แต่ก็เหมือนได้ผล ต้องติดตามคนไข้จำนวนที่มากกว่านี้ ซึ่งเราวางแผนไว้เยอะมาก แต่ยายังไม่มี และยังเอาไปเทียบกับยาอื่นไม่ได้ว่าได้ผลกว่าหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ได้เอามาใช้เป็นยาตัวแรกแล้วเทียบกัน แต่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ในผู้ป่วยโรคลมชักรักษายากในเด็ก ซึ่งการตอบสนองกัญชาแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลางเนื้อชอบลางยา อย่างไรก็ตาม หากผ่าตัดได้จะดีที่สุด เพราะการใช้ยาต้องใช้ตลอดชีวิต แต่ผ่าตัดสำเร็จไม่ต้องใช้ยา" พญ.อาภาศรีกล่าว