xs
xsm
sm
md
lg

จับทิศ "กัญชาการแพทย์" ปี 63 ยังทรง ลุ้น "กัญชง" ตอบโจทย์ ปลูกทุกครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดปี 2562 ถือเป็นมหากาพย์แห่ง "กัญชา" ก็ว่าได้ เพราะเป็นกระแสมาตั้งแต่การออก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เพื่อคลายล็อกให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ต่อเนื่องถึงการจับกุม นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ที่มีการผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วย จนนำมาสู่การเรียกร้องความเป็นธรรม #SaveDecha เพราะเป็นช่วงเวลาของการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา จึงไม่ควรมีการจับกุม


จนกระทั่งมีการหาทางออกที่น่าพึงพอใจสำหรับทุกฝ่าย ด้วยการส่งเสริมนายเดชาเป็นหมอพื้นบ้าน และนำสูตรน้ำมันกัญชาเข้าสู่กระบวนการวิจัย เพื่อเป็นยารักษาต่อไป ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการทยอยออกสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ทั้งสารสกัดซีบีดี สารสกัดทีเอชซี และสารสกัดสูตรหนึ่งต่อหนึ่ง จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้ในการวิจัยและรักษาผู้ป่วยตามกลุ่มโรคที่กำหนด คือ โรคลมชักในเด็ก คลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรังรุนแรง ซึ่งต้องเป็นกลุ่มที่ใช้ยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มมีการทยอยเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ รองรับ

ด้านการแพทย์แผนไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีการออกประกาศตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม 16 ตำรับ และเริ่มทยอยผลิตออกมาใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย เช่น ตำรับศุขไสยาศน์ สรรพคุณช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ตำรับทำลายพระสุเมรุ บรรเทาอาการเกร็งกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง ชา ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ ตำรับแก้ลมแก้เส้น และตำรับริดสีดวงทวาร ขณะที่หมอพื้นบ้าน ก็เห็นชอบให้ใช้ตำรับจอดกระดูก และน้ำมันเดชา ในการรักษาได้ ซึ่งตำรับน้ำมันเดชานี้ก็ได้ใช้ในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และมีการเก็บข้อมูลติดตามผลวิจัย


นอกจากนี้ ยังมีปมดรามาเรื่อง "กัญชาเสรี" จากการหาเสียงไว้ของ "เสี่ยหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จนสุดท้ายต้องย้ำชัดว่า เป็นกัญชาเสรีทางการแพทย์ คือ ใช้ทางการแพทย์อย่างเสรีเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการใช้สันทนาการ และประเด็นของการให้ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ซึ่งนายอนุทิน ตัดบทจบตลอดว่า ได้ยื่นร่างง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เข้าสู่สภาแล้ว เพื่อเดินหน้านโยบายกัญชาบ้านละ 6 ต้น จากนี้ก็ต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการในการออกกฎหมายเพื่อเดินหน้านโยบายนี้

หากสรุปผลความคืบหน้าของกัญชาทางการแพทย์ในปี 2562 ในส่วนของคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการเปิดแล้วทั้งสิ้น 11 แห่งทั่วประเทศ มีทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และแพทย์แผนไทย ผ่านการอบรมในการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว 6,400 คน จ่ายยาสารสกัดกัญชาไปแล้ว 2,034 ขวด จากการติดตามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดกัญชาพบว่า ร้อยละ 84 มีอาการดีขึ้น ร้อยละ 13 อาการคงที่ และร้อยละ 3 อาการไม่ดีขึ้น ส่วนผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์มีทั้งเรื่องการเวียนศีรษะ วิตกกังวล และความดันผิดปกติ โดยมีจำนวน 9 ราย แต่ที่ต้องลดขนาดหรือหยุดยา มีจำนวน 5 ราย ส่วนของคลินิกการแพทย์แผนไทย เปิดให้บริการแล้วจำนวน 29 แห่ง มีผู้ป่วยมาใช้บริการรวมกว่า 1,300 คน ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นเช่นกัน


สำหรับการวิจัยน้ำมันกัญชาสูตรหมอพื้นบ้าน อ.เดชา ศิริภัทร ในโครงการติดตามลักษณะการใช้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้น้ำมันกัญชาในทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในโรงพยาบาลชุมชนทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยผสมผสาน (ยศเส) 22 แห่ง ซึ่งมีผู้ป่วยได้รับยาน้ำมันกัญชาแล้ว กว่า 1,000 คน อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติม

ส่วนการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ในปี 2563 อาจยังไม่มีอะไรที่ "ว้าว" มากไปกว่าเดิม สาเหตุเพราะการขับเคลื่อนก็ยังคงเป็นทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว และจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการขยายการเข้าถึงบริการด้านกัญชาทางการแพทย์มากกว่า เช่น คลินิกกัญชาทางการแพทย์ จะขยายเพิ่มเติมในโรงพยาบาลชุมชนอีก 36 แห่ง ภายในเดือน มี.ค. 2563 ส่วนคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ก็มีการตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้ครบโรงพยาบาล 110 แห่งใน 76 จังหวัด และมุ่งหวังที่จะเปิดให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไปในอนาคต

หรืออาจต้องรอดูผลวิจัยใหม่ๆ ของสารสกัดกัญชาว่า จะมีอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น ผลในการรักษาโรคต่างๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน จะมีความชัดเจนขึ้นหรือไม่ หรือการศึกษาเรื่องการรักษามะเร็ง ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ว่าจะมีความคืบหน้าอะไรให้ได้ลุ้นหรือยินดีกว่าเดิมหรือไม่


แต่ที่น่าจับตา คือ การออกกฎหมายที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมออกกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้นายอนุทินได้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถออกมาได้ ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวจะเปิดช่องให้ "เกษตรกร" ทั่วประเทศสามารถขออนุญาตปลูกกัญชากับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ โดยที่ไม่ต้องไปรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่ยังต้องร่วมมือกับภาครัฐในการปลูกเช่นเดิม ดังนั้น ประชาชนทั่วไปที่ต้องการปลูกกัญชา ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร และไปร่วมมือกับภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลต่างๆในการปลูกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ ทั้งทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

สำหรับเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ การปลูกจะต้องได้มาตรฐานในการที่จะนำมาผลิตยาหรือสารสกัดกัญชาได้ ซึ่งปัจจุบันหลักๆ ที่ทำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ คือ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งหากจะปลูกป้อนให้องค์การเภสัชกรรม ก็ต้องทำในรูปแบบของคอนแทคฟาร์มมิง ที่จะมีรายละเอียดในการกำหนดว่า จะต้องปลูกมากน้อยเท่าไร อย่างไร องค์การเภสัชกรรมถึงจะรับซื้อ


ส่วนที่มีช่องทางมากกว่า คือ การปลูกเพื่อป้อนทางการแพทย์แผนไทย เพราะมีหลายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสม และยังต้องการวัตถุดิบจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ผลิตตำรับยา และนโยบายที่น่าจะเดินไปในปี 2563 จะเป็นลักษณะของการส่งเสริมสมุนไพรแห่งชาติ ถือว่ายังมีโอกาสอีกมากในการช่วยเกษตรกรเข้าถึง

เว้นแต่จะมีการปลดล็อกออกจากยาเสพติด ซึ่งก็ต้องรอผลการศึกษาที่รอบด้าน รวมถึงรูปแบบแนวทางต่างๆ ว่าจะออกมาเป็นเช่นไร และจะเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาถอดจากยาเสพติดได้เมื่อไรก็เท่านั้น ระหว่างนี้กัญชาก็ยังคงสถานะในการใช้ทางการแพทย์ไปในแบบเช่นนี้ก่อน


แต่ที่คนไทยทุกคนจะเข้าถึงได้มากกว่ากลับเป็น "กัญชง" ที่เชื่อว่าในปี 2563 คนไทยทุกคนจะเข้าถึงและหากมีความสนใจก็สามารถขออนุญาตปลูกได้ เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันร่างกฎกระทรวง การขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งหากผ่านก็จะเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งกลับมายัง ครม.อีกครั้ง เพื่อออกประกาศ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็น่าจะสามารถออกได้ภายในปี 2563

หลังจากที่กฎกระทรวงดังกล่าวออกมาแล้ว คนไทยทุกคนก็สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เกษตรกรไทย ประชาชนทั่วไปที่เป็นคนไทย นิติบุคคลที่เจ้าของเป็นคนไทย 2 ใน 3 ก็สามารถปลูกได้ในเชิงพาณิชย์ แต่ต้องได้รับอนุญาตในการปลูก และมีรายละเอียดชัดเจนว่าปลูกเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ใช้ในครัวเรือน ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม หรือใช้ในการวิจัย เป็นต้น การปลูกจะปลูกที่ไหน ส่งไปขายให้ใคร ใช้สายพันธุ์อะไร เป็นต้น ซึ่งเรื่องสายพันธุ์ก็จะมีสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกอยู่

เรียกว่า "กัญชง" มีอนาคตมากกว่า "กัญชา" เพราะกัญชงปลูกแล้วสามารถนำไปต่อยอดหลายสิ่งได้มากกว่ากัญชาที่นำไปทำเพื่อการแพทย์เพียงอย่างเดียว โดยกัญชงหากปลูกในครัวเรือน เท่าที่กำหนดไว้ในร่าง คือ ไม่เกินครัวเรือนละ 1 ไร่ การนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เช่น ชาวเขาเดิมก็นำมาทำเส้นใย หรือการนำเมล็ดกัญชงไปทำน้ำมัน ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะมารับซื้อ คล้ายกับที่ประเทศจีนดำเนินการ ส่วนในเชิงอุตสาหกรรมจะสามารถขออนุญาตปลูกได้หลายไร่ คนที่จะขอปริมาณเยอะๆ เช่นนี้ในการขออนุญาตปลูกจะต้องระบุว่า จะเอาไปทำในอุตสาหกรรมอะไร ส่งขายให้ใคร เช่น ทำอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น

กัญชงจึงมีแนวโน้มตอบโจทย์เศรษฐกิจประเทศมากกว่า เพราะมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่สามารถนำสารซีบีดีในกัญชงมาผสมได้ และแนวโน้มตลาดยังสามารถเติบโตได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น ปี 2563 ก็ต้องรอคอยฟังข่าวดีว่า กฎกระทรวงกัญชงจะผ่านตอนไหน และจะเริ่มขออนุญาตปลูกได้เมื่อไร ซึ่งเมื่อไฟเขียวแล้ว อาจจะได้เห็นไร่กัญชงจำนวนมากในประเทศเกิดขึ้น


และที่ต้องจับตาเพิ่ม คือ "กระท่อม" ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประกาศนโยบายชัดว่าจะปลดล็อกออกจากยาเสพติด โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขตั้งทีมศึกษาเรื่องนี้ ก็ต้องลุ้นเช่นกันว่า จะออกมาในรูปแบบไหนอย่างไร เพราะทุกวันนี้กระท่อมสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้เหมือนกัญชา เพียงแต่ยังขาดกฎระเบียบรองรับอยู่เท่านั้น












กำลังโหลดความคิดเห็น