สธ.เผยใช้สารสกัด "กัญชา" ช่วยคุมอาการลมชัก เจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายได้ดี ศึกษาพบสารสกัดกัญชา มีทั้งกำจัดเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ และเพิ่มเซลล์มะเร็งในบางอัตราส่วน
วันนี้ (31 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การนำสารสกัดกัญชามาใช้กับผู้ป่วย และศึกษาวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยกรมการแพทย์รับ ขณะนี้ได้รับรายงานว่า สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่น สามารถควบคุมอาการชักในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักส่วนใหญ่ได้ดี และสารสกัดกัญชาชนิด 1:1 ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีประสิทธิผลในการลดอาการปวด ช่วยให้นอนหลับ และเพิ่มความอยากอาหารได้ ในส่วนของโรคสมองเสื่อม ขั้นตอนอยู่ระหว่างการจัดสรรสารสกัดกัญชาชนิด 1:1 ให้กับผู้ป่วย คาดว่าจะได้รับสารสกัดกัญชาใน ม.ค. 2563 กรณีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่น ซึ่งมีปริมาณจำกัดในระยะแรก คงต้องรอการผลิตที่จะได้รับในระยะต่อไป ส่วนผลวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง มีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาสารสกัดกัญชาเป็นยารักษามะเร็งบางชนิดได้ในอนาคต โดยต้องมีการศึกษาวิจัยในขั้นตอนของสัตว์ทดลองต่อไป หากได้ผลดี จึงไปนำสู่การศึกษาวิจัยในคนและนำมาใช้กับผู้ป่วย
"วันที่ 15 ม.ค. สธ.จะเดินทางไปเยี่ยมศึกษาและติดตามความก้าวหน้าการเก็บช่อดอกกัญชาปลอดสารเคมี ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติการปลูกที่ดี ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้ สธ.ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อการดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาอย่างแท้จริง" นายอนุทิน กล่าว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำสารสกัดกัญชาไปใช้เพื่อการรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วย พบว่าเมื่อใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่นกับผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก จำนวน 13 คน คุมอาการชักได้ดี 2 คน มีอาการชักลดลง 10 คน และ 1 คนที่ไม่สามารถคุมอาการชักได้ ในส่วนของสารสกัดกัญชาชนิด 1:1 ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบคนไข้ใน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย จำนวน 13 คน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลง 7 คน จาก 10 คน นอนหลับได้ดีขึ้น 10 คน จาก 12 คน ผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร 5 คนมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นทุกคน อย่างไรก็ตาม พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ หูแว่วและเห็นภาพหลอน 1 คน การเคลื่อนไหวและการทรงตัวผิดปกติ 3 คน ความคิดช้าลง 1 คน ผู้ป่วยทุกคนมีอาการดีขึ้นเมื่อหยุด ลดขนาดยาลง และปรับเปลี่ยนวิธีการให้ยา
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง พบว่าสาร THC และ CBD ในอัตราส่วนต่างๆ เมื่อพิจารณาจากการใช้ปริมาณน้อยแต่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองลงได้ครึ่งหนึ่ง และไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ พบว่ามีจำนวน 8 ชนิดมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER+) มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอดบางชนิด และมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม มีสารสกัดกัญชาบางอัตราส่วนเมื่อใช้ปริมาณน้อยกลับส่งผลให้เซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลองเจริญเติบโตเร็วขึ้น