xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “ยาลดความอ้วน” ก่ออาการทางจิต “โรคซึมเศร้า” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต เตือนอาหารเสริมผสมยาลดความอ้วน ผสม “ไซบูทรามีน - เฟนเทอมีน” เสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ เหตุยาไปยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทสมอง พบสถาบันลดน้ำหนักมักใช้ผลข้างเคียงยารักษาซึมเศร้ามาลดความอ้วน ชี้หากใช้ร่วมไซบูทรามีน เฟนเทอมีน ยิ่งก่ออาการทางจิตสูง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายตัวที่มีส่วนผสมของยาลดความอ้วน ว่า ยาลดความอ้วนที่มักผสมเข้าไป คือ ไซบูทรามีน และ เฟนเทอมีน ซึ่งทำให้มีอาการทางประสาทอ่อนๆ และจะมีมากขึ้นหากคนที่กินมีปัญหา “โยโย่” คือ มีพฤติกรรมกินอาหารเพิ่มมากขึ้นหลังจากหยุดกินยาลดน้ำหนัก เนื่องจากร่างกายหลั่งสารเข้าไปกระตุ้นสมองให้มีความอยากอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้กินมากขึ้นและอ้วนมากกว่าปกติ บางคนอาจมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า ทำให้เกิดความเครียดซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก อาจรู้สึกไม่อยากออกไปเจอใคร แยกตัวเอง และหันกลับไปกินยาตัวเดิมซ้ำอีก อาจจะเกิดการดื้อยากินแล้วไม่ได้ผล ต้องกินยาที่แรงขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้น และเกิดปัญหาทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สารไซบูทรามีน และ เฟนเทอมีน ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ เกิดจากฤทธิ์ยาจะไปกดสมองส่วนความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวจึงลดลง นอกจากนี้ ยายังมีผลทำให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาทสำคัญ 3 ตัว ซึ่งต้องทำงานอย่างสมดุลกัน คือสารซีโรโทนิน ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความหิว การรับรู้และความเจ็บปวด สารนอร์อิฟิเนฟฟรีน ซึ่งจะควบคุมการตื่นตัว กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและควบคุมการแสดงออกเวลาที่รู้สึกกลัว และสารโดปามีน จะควบคุมสมาธิ อารมณ์ ความรู้สึกคล้ายกัน โดยปกติร่างกายของเราจะหลั่งสารออกมาในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน แต่หากร่างกายมีการหลั่งสารชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่ากัน จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้  และหากสารนี้ทำงานมากเกินปกติ อาจมีผลทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้เช่นกัน นำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในชีวิต เช่น การฆ่าตัวตาย เป็นต้น

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ไซบูทรามีน และ เฟนเทอร์มีน เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้ที่ใช้ยาเฟนเทอร์มีน มีอัตราเป็นซึมเศร้าร้อยละ 2 ซึ่งคนที่กินยาเฟนเทอร์มีนนี้จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่กินยาไซบูทรามีนประมาณ 1.2 เท่า ส่วนยาไซบรูทรามีน มีอัตราเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 0.8 และเมื่อมีอาการซึมเศร้าจะมีความสัมพันธ์กับความคิดทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 3.6 นอกจากนี้ ยังพบว่ายังมีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าผิดประเภท โดยนำมาใช้ลดความอ้วน ที่นิยมใช้ คือ ยาฟลูออกซิทิน ซึ่งศูนย์ลดน้ำหนักหลายแห่งมักนำมาใช้ โดยอาศัยผลข้างเคียงของตัวยาคือทำให้เบื่ออาหาร โดยเฉพาะใช้ในขนาดสูง ปัญหาสำคัญเมื่อคนทั่วไปเอายาชนิดนี้มากินในขนาดสูงมากๆ อาจทำให้เกิดอาการทางจิตแบบคึกคัก ครื้นเครง หรือร่าเริงเกินเหตุแบบแมเนียได้ และเมื่อยาตัวนี้กินร่วมกับไซบูทรามีนและเฟนเทอมีน จะทำให้มีโอกาสเกิดอาการทางจิตสูงกว่าปกติหลายเท่าตัวด้วย 

“ขอย้ำเตือนให้ประชาชนที่มีปัญหาอ้วน น้ำหนักตัวมาก ขอให้ใช้วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวโดยการออกกำลังกายไม่ว่าจะออกกลางแจ้งหรือในฟิตเนส และการควบคุมอาหารการกิน จะดีที่สุดและให้ผลดีต่อสุขภาพ  การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข คือ เอ็นดอร์ฟีน ช่วยลดความเครียดลงได้ และช่วยให้นอนหลับดี ควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการออกกำลังกายนี้จะต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง คือ ออกสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที  และการลดน้ำหนักที่ปลอดภัย ไม่ควรเกินสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม” นพ.ประภาส กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น