กรมสุขภาพจิต เตือนอาการ “เหงาเฉียบพลัน” ช่วงสงกรานต์ ในคนที่ไม่ได้กลับบ้าน ชี้ มีโอกาสเกิดได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แนะวิธีคลายความเหงาหากครอบครัวไม่สามารถกลับมาอยู่พร้อมหน้าช่วงสงกรานต์
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปหาครอบครัว แต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน และอาจเกิดภาวะ “ความเหงาเฉียบพลัน” (Acute loneliness) โดยจะมีอาการความรู้สึกโดดเดี่ยว น้อยใจ หงุดหงิด นอนไม่หลับ เศร้า รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไม่มีใครคิดถึง ไม่มีใครรัก อาการนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ลูกหลานไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดสูงที่สุด
“จากงานวิจัย พบว่า ในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้น จะเผชิญกับสถานการณ์ความเหงาเฉียบพลันได้ 1 ใน 10 คน หากอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะพบได้สูงถึง 1 ใน 2 คน พิษภัยของความเหงา หากปล่อยไปจะกลายเป็น ความเหงาเรื้อรัง (Chronic loneliness) เป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า และเป็นปัจจัยเสี่ยงการเจ็บป่วยทางจิตใจที่ส่งผลเกิดโรคทางกายหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ภูมิต้านทานต่ำลง การนอนผิดปกติ ติดเหล้า โรคอ้วน การตายก่อนวัยอันควร ฯลฯ จึงไม่ควรมองข้าม” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า ขอให้ทุกครอบครัวให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของการป้องกันความเหงาเฉียบพลัน และช่วยกันดูแลผู้สูงอายุที่มีทั่วประเทศประมาณ 10 ล้านคน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นพิเศษ
นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวว่า กรณีที่ครอบครัวไม่สามารถกลับไปอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวิธีดูแลใจ คลายความเหงาด้วยตนเอง ดังนี้ 1. เข้าใจความจำเป็นที่ครอบครัวไม่สามารถกลับมาเยี่ยมในช่วงสงกรานต์ 2. ไม่เปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น 3. พยายามอย่าอยู่คนเดียวหรือคิดหมกมุ่น น้อยใจ 4. ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือเข้าร่วมกิจกรรมวันสงกรานต์ของชุมชน จะช่วยให้คลายความเหงาได้ หากมีความทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจ สามารถติดต่อปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลานดูแล หากชุมชนจัดกิจกรรมพิเศษในวันเทศกาลสงกรานต์ เช่น จัดพิธีรดน้ำดำหัว มอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แม้จะมีค่าไม่มาก แต่ให้ผลทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความสุขใจให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้อย่างดี และเกิดความรู้สึกมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน