xs
xsm
sm
md
lg

Hoarding Disorder : ที่บ้านเรารกอาจเป็นเพราะโรคนี้หรือเปล่านะ/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ทุกวันนี้อากาศภายนอกจะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพลดลง อย่างน้อยก็ขอให้ในบ้านของเราเป็นที่ๆจะสามารถสูดลมหายใจได้เต็มปอด แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อต้องพบว่าพื้นที่ใช้สอยของบ้านถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ไม่ได้ใช้งานวางไว้จนแทบไม่มีที่จะเดิน สิ่งของบางอย่างถูกซุกแอบไว้จนฝุ่นจับ

หลายอย่างถูกโยนทิ้งไว้จนดูเหมือนเป็นกองขยะรกรุงรังซึ่งแทบไม่เคยมีใครเหลียวแล

น่าแปลกว่าพอเริ่มที่จะหยิบจับนำสิ่งของทั้งหลายออกมาตัดสินใจเลือกว่าจะเก็บไว้หรือทิ้งไป ความรู้สึกเสียดายจะเริ่มเข้ามาบังคับความคิดให้หาเหตุผลต่างๆนานาเพื่อที่จะได้ตัดสินใจเก็บสิ่งของเหล่านั้นไว้

...อันนี้เก็บไว้ก่อนเผื่อได้ใช้ อันนั้นยังดีอยู่เลยเดี๋ยวจะหาโอกาสใช้บ่อยๆ พวกนี้เก็บไว้ขายของเก่าให้ได้เงินนิดหน่อยก็ยังดี หรือพวกนั้นรวบรวมเอาไว้บริจาคทีเดียว

แต่เวลาผ่านไม่นานก็ลืมทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับและปล่อยกองสุมรกบ้านเช่นเดิม
ความรู้สึกเสียดายของเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

หากอยากเก็บของที่ดูไร้ประโยชน์ไว้เต็มบ้านโดยไม่ได้สนใจไยดีหรือรักษาไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หรือเก็บเป็นที่เป็นทางสามารถหยิบจับมาใช้งานได้ง่าย

แต่กลับปล่อยให้สิ่งของเหล่านั้นวางระเกะระกะไปทั่วจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นภายในบ้านได้อย่างสะดวก

ใครบอกใครแนะนำให้นำสิ่งของที่ไม่ได้ใช้นั้นทิ้งไปก็รู้สึกโกรธและไม่พอใจ ให้สงสัยได้ว่าคนๆนั้นอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “Hoarding Disorder” หรือ “โรคเก็บสะสมของ” ก็เป็นได้

ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวอาจสังเกตเห็นถึงความผิดปกติของตัวเองหรือไม่ก็ได้

แต่ถึงแม้จะรู้ตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบังคับควบคุมตัวเองให้สามารถตัดสินใจเลือกเก็บหรือทิ้งสิ่งของได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งหากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็ยิ่งต้องการที่จะเก็บสะสมสิ่งของต่างๆมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆไม่มีสิ้นสุด

ทั้งนี้ เพื่อให้ตัวเองคลายความวิตกกังวลและเกิดความรู้สึกอุ่นใจที่ได้เก็บตุนสิ่งของหลายอย่างเอาไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจากความบกพร่องในการทำงานของสมองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปัจจัยด้านพันธุกรรมซึ่งทำให้กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายเดียวกันกับผู้ที่มีอาการป่วยมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคสะสมสิ่งของนี้มากกว่าคนในกลุ่มอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ อาการของโรคจึงสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดช่วงวัย

แต่โดยมากเรามักจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป เนื่องจากผู้อยู่ในภาวะของโรคเริ่มมีกำลังในการซื้อหาและมีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อเก็บสะสมสิ่งของได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยการเกิดโรคยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมหรือการเสื่อมสภาพการทำงานของสมอง การได้รับบาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรง ตลอดจนการเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวช โดยอยู่ในภาวะที่มีความเครียดและวิตกกังวลสูง ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ หรือขาดความมั่นคงทางจิตใจ อาจรวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ทำให้เกิดความเคยชิน ความรู้สึกฝังใจกับการสูญเสียของรักในอดีต หรือมีปมในใจที่ต้องการสิ่งของมาเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป

สิ่งที่ตามมาจากภาวะชอบเก็บสะสมของคือ ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป

เนื่องจากของที่เก็บสะสมมักเป็นของที่ไม่มีโอกาสได้ใช้งานบ่อยๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ สายไฟ อะไหล่หรืออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ หรือเป็นของเหลือเก็บเหลือทิ้ง อาทิ กล่องกระดาษ ถุงและขวดน้ำพลาสติก หรือแม้แต่อาหารที่รับประทานไม่หมด ซึ่งบางอย่างกินพื้นที่บ้านและเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองจำนวนมาก

บางอย่างถูกกองสุมเก็บไว้นานจนเกิดการเสื่อมสภาพอาจเป็นที่ซุกซ่อนหรือมีกลิ่นที่ดึงดูดหนูและแมลงสาบ มด ปลวก หรือสัตว์มีพิษเข้าให้มาอยู่อาศัยได้

ความรกรุงรังและความไม่สะอาดของที่อยู่อาศัยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพการใช้ชีวิตแย่ลง โดยอาจสร้างปัญหาสุขภาพให้เจ็บป่วยได้ง่าย

การดำเนินกิจกรรมในบ้านทำได้จำกัดและอาจเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุหรือสัตว์มีพิษได้ตลอดเวลา หมกมุ่นกับการเก็บสิ่งของมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนกระตุ้นให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นตามมา

ด้วยเหตุนี้ หากที่บ้านมีข้าวของที่ไม่ได้ใช้เยอะเกินไปแล้วนั้น อาจต้องเริ่มสงสัยว่าตัวเราเองหรือคนในบ้านกำลังอยู่ในภาวะชอบเก็บสะสมของอยู่ก็เป็นได้

ซึ่งคงต้องให้คุณหมอช่วยวินิจฉัยเพื่อยืนยันและให้คำแนะนำในการดูแลรักษาเป็นลำดับขั้นตอนไป

เพราะวิธีที่จะช่วยให้อาการชอบเก็บของให้บรรเทาลงได้จำเป็นต้องอาศัยการบำบัดพฤติกรรมเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ยังต้องใช้ความตั้งใจแน่วแน่ของตัวเองในการฝึกฝนการควบคุมอารมณ์ความต้องการโดยการใช้เหตุผลและการตัดสินใจด้วย อีกทั้งบุคคลใกล้ชิดยังต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือและดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ โดยใช้การสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมด้วยวิธีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจมากกว่าคำสั่งหรือบังคับ ใช้เวลาร่วมกันในการเลือกเก็บสิ่งของพร้อมกับให้คำแนะนำที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายเมื่อต้องตัดสินคุณค่าและความจำเป็น นำเสนอแนวคิดใหม่ๆที่น่าสนใจในการจัดการสิ่งของรอบตัว รวมทั้งพากันทำกิจกรรมอื่นที่ทำให้ออกห่างจากการจดจ่อกับการเก็บสะสมสิ่งของ

ที่ผ่านมา “Hoarding Disorder” อาจเป็นโรคที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่มากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเรามีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถละเลยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิดได้

เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะหันมาใส่ใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเก็บสะสมของเพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเราเองได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น