xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคนไทยถือฤกษ์ “วันวิสาขบูชา” ทำสมาธิ ช่วยสมองไบรท์ ไม่ฟุ้งซ่าน ความจำดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทยถือฤกษ์ “วันวิสาขบูชา” ฝึกทำสมาธิ ลดความว้าวุ่นใจจากยุคโซเชียลมีเดีย แนะทำวันละ 10 - 30 นาที ติดต่อกัน 2 เดือน ช่วยสมองไบรท์ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจเข้มแข็ง ความจำดี หญิงตั้งครรภ์เจ็บครรภ์น้อยลง ชูเทคนิค 3 ขั้นตอน ฝึกจับลมหายใจเข้าออก จัดการความคิดสอดแทรก และจัดการกับความง่วง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เนื่องในวันวิสาขบูชา ขอแนะนำให้ประชาชนถือฤกษ์วันสำคัญนี้ เริ่มต้นฝึกการทำสมาธิ เนื่องจากปัจจุบันในยุคของโซเซียลมีเดียมีข่าวสารมากมายเปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลา ทําให้สมองทํางานโดยคิดอย่างไม่สิ้นสุด หลายคนอาจแก้ปัญหาไม่ตก ทั้งเรื่องในอดีตและอนาคต ทำให้มีความเครียด ความอดทนน้อยลง หงุดหงิด ทำให้สุขภาพแย่ลงตามไปด้วย ซึ่งการทำสมาธิจะช่วยผ่อนคลายความเครียดต่างๆ ที่มากระทบ และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก และยังเป็นบุญกุศลในทางพุทธศาสนา ทำให้จิตสะอาดผ่องใส เพียงแค่จัดเวลาวันละ 10 - 30 นาที ไม่ถึงร้อยละ 2 ของเวลาทั้งวัน หากทำเป็นประจำทุกวันจะได้ผลดีมาก

“การฝีกทำสมาธิ กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างมาก เพราะมีผลวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากยืนยันว่า การทำสมาธิช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น ไมเกรน หอบหืด สุขภาพจิตดีขึ้น จิตใจแจ่มใส ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า เนื่องจากการทำสมาธิ จะช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาท เซโรโทนิน ในสมอง ยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่สร้างอารมณ์ด้านลบ และขณะที่ทำสมาธิจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและการเผาผลาญอาหารในร่างกายทำงานดีขึ้น ทำให้กระฉับกระเฉง ไม่เหนื่อยง่าย อารมณ์แจ่มใส หากทำสมาธิติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ ส่งผลดีต่อสุขภาพสมองไบรท์ขึ้น ความจำดีขึ้น มีจิตใจเข้มแข็ง เผชิญปัญหาได้ทุกรูปแบบ จัดการกับอารมณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่คนเราจะมีสิ่งมากระทบจิตใจได้บ่อย เช่น มีคลิปวีดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ และแชร์กันต่อๆ มา เมื่อดูแล้วเกิดอารมณ์ทางบวกและทางลบได้ง่าย สมาธิจะช่วยขจัดความขัดแย้งในจิตใจได้อย่างดี” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า การทำสมาธิสามารถทำได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์จะได้รับอิทธิพลความสงบไปด้วย เวลาเจ็บครรภ์คลอดจะทำให้มีสติ รู้จักการผ่อนคลายกล้ามเนื้อไม่ให้เจ็บปวดมากเกินไป เมื่อทารกคลอดออกมา จะเป็นเด็กอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย จะมีพัฒนาการทั้งด้านพฤติกรรมและอารมณ์ไปในทิศทางที่ดี สำหรับการทำสมาธิมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ 1. การฝึกจับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกให้รู้ว่าหายใจออก ไม่ต้องนับหรือใช้ถ้อยคำใดๆ

2. ระหว่างฝึกจับลมหายใจ หากมีความคิดใดๆ ผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ขอให้เพียงแค่รู้ตัวและปล่อยให้ความคิดนั้นผ่านเลยไป ให้หันความสนใจมาที่ลมหายใจเท่านั้น ข้อสำคัญคือ อย่าสั่งตัวเองให้หยุดคิด เพราะจะทำให้จิตว้าวุ่น ไม่สงบ และ 3. การฝึกจัดการกับความง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อจิตสงบแล้ว โดยให้ยืดตัวตรง หายใจเข้าออกแรงๆ สัก 5 - 6 ครั้ง หรือใช้วิธีจินตนาการหลอดไฟที่สว่างจ้าสักครู่หนึ่ง หากหายง่วงแล้วให้กลับไปตามรู้ลมหายใจให้ต่อเนื่องต่อไป ควรทำสมาธิหลังตื่นนอนใหม่ๆ เพราะร่างกายยังสดชื่นอยู่ ส่วนช่วงก่อนนอน ลองฝึกรู้ลมหายใจจนหลับไปจะทำให้นอนหลับได้ลึก และผ่อนคลายได้ดี ขณะนี้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ ได้ให้ผู้ใช้บริการทุกคนฝึกสมาธิ สติ ก่อนรับบริการตรวจรักษา และฝึกผู้ป่วยในที่มีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อสามารถดูแลตัวเองครบถ้วนทั้งกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ


กำลังโหลดความคิดเห็น