xs
xsm
sm
md
lg

อยากให้เด็กฉลาด-สมองไว พ่อแม่ต้องเริ่มเมื่อไหร่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นอกจากร่างกายที่แข็งแรงแล้ว สติปัญญาที่เฉลียวฉลาดของลูกน้อยคือสิ่งสำคัญอันดับต้นที่พ่อแม่ใส่ใจ ทุกคนต่างทราบว่า "สมอง" เป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในการรับรู้ การคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางสติปัญญา การสื่อสาร และการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่กระนั้นความฉลาดเกิดจากการทำงานในลักษณะใดของสมอง แล้วพ่อแม่สามารถส่งเสริมกระบวนการเหล่านี้ของสมองลูกให้ดีขึ้นได้หรือไม่?

นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารประสาทวิทยา อธิบายการทำงานของสมองว่า สมองทำงานด้วยวงจรประสาท (Neural circuit) ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์ประสาทส่งแขนงประสาทนำออก (Axon) ไปยังเซลล์ประสาทตัวถัดไป โดยแขนงประสาทนำออกนี้ทำหน้าที่เหมือน “ถนน” ในการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท และเมื่อแขนงประสาทนำออกจากเซลล์ประสาทหลาย ๆ เซลล์มารวมกันก็จะกลายเป็นวงจรประสาทในการเชื่อมโยงสมองแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน [อ้างอิง 1-2]

สร้างลูกฉลาดต้องเริ่มต้นในวัยเด็ก

วงจรประสาทไม่ได้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมๆกันในทีเดียว แต่จะค่อยๆพัฒนาตามความจำเป็นในการใช้งาน โดยวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่พื้นฐานเพื่อการมีชีวิตรอดจะพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์มารดาถึงช่วงปีแรก ๆ หลังคลอด ได้แก่ วงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และ วงจรประสาทของระบบประสาทรับความรู้สึก เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรับสัมผัส เป็นต้น ขณะที่วงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับภาษาและการสื่อสาร จะมีการพัฒนามากตั้งแต่อายุ 6 เดือน ไปจนถึงช่วงอายุ 3 - 5 ปี ส่วนวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขั้นสูงของสมอง (Higher brain functions) อันเป็นพื้นฐานของความสามารถทางสติปัญญา เช่น การวางแผน การตัดสินใจ การยับยั้งตนเอง ความสนใจจดจ่อ การควบคุมอารมณ์ และการควบคุมตนเอง เป็นต้น จะพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงวัยเรียนไปจนถึงวัยรุ่น และไปสิ้นสุดในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หลังจากนั้นโครงสร้างสมองและวงจรประสาทจะค่อนข้างคงที่ สามารถปรับเปลี่ยนได้บ้างตามการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ เช่น ผู้ใหญ่ที่เรียนภาษาใหม่เพิ่มจากภาษาที่เคยรู้อยู่เดิมก็จะมีการสร้างวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับภาษาใหม่ มาเชื่อมกับวงจรประสาทของภาษาเก่า ดังคำกล่าวที่ว่าคนเราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดทั้งชีวิต
รูปการพัฒนาของวงจรประสาทในแต่ละช่วงอายุ
กระนั้น นพ.วรสิทธิ์ ย้ำว่าการปรับโครงสร้างสมองและวงจรประสาทในวัยผู้ใหญ่เกิดได้ยากกว่าช่วงวัยเด็ก และยากไปอีกในช่วงวัยชรา ดังนั้นการส่งเสริมความสามารถของวงจรประสาทจึงต้องรีบทำในวัยเด็กจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“ไมอีลิน” ตัวช่วยสมองประมวลผลเร็ว

โดยปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งสัญญาณประสาทที่สำคัญยิ่งคือ “การสร้างปลอกไมอีลิน” (Myelination) เพราะการที่แขนงประสาทนำออกมีปลอกไมอีลิน (Myelin sheath) มาห่อหุ้มจะทำให้การส่งสัญญาณประสาทเป็นไปแบบก้าวกระโดดคือจากจุดหนึ่งกระโดดไปยังอีกจุดหนึ่งแทนที่จะเป็นการส่งสัญญาณต่อ ๆ กันในระยะใกล้ซึ่งจะพบในกรณีที่แขนงประสาทนำออกไม่มีปลอกไมอีลิน [อ้างอิง 3-6] โดยเส้นใยประสาทที่มีไมอีลินจะมีการส่งสัญญาณประสาทที่เร็วกว่าไม่มีไมอีลินถึง 60 เท่า [อ้างอิง 7] จึงสามารถประมวลผลได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า การสร้างปลอกไมอีลินจึงเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยเป็นอย่างยิ่ง
รูปแขนงประสาทนำออกที่มีปลอกไมอีลินห่อหุ้ม ส่งผลให้การส่งสัญญาณรวดเร็ว มีลักษณะก้าวกระโดด
ลำดับในการสร้างปลอกไมอีลินในสมองจะถูกกำหนดโดยปัจจัยทางพันธุกรรม ดังนั้นการสร้างปลอกไมอีลินจึงเกิดขึ้นไม่พร้อมกันในแต่ละบริเวณของสมอง เหมือนกับการสร้างวงจรประสาทที่มีช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยสมองและวงจรประสาทที่ทำหน้าที่พื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น การเคลื่อนไหว การมองเห็น การได้ยิน การรับสัมผัส จะมีการสร้างปลอกไมอีลินก่อน ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิต ในขณะที่สมองและวงจรประสาทที่มีบทบาทด้านการทำงานขั้นสูง เช่น การตัดสินใจ การวางแผน การควบคุมตนเอง สมาธิ การแก้ไขปัญหา หรือกระบวนการคิด จะเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยรูปแบบการสร้างปลอกไมอีลินนี้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ที่จะพัฒนาสมองส่วนพื้นฐานและจำเป็นต่อการอยู่รอด ก่อนสมองส่วนการทำงานขั้นสูง [อ้างอิง 8-11]

"สฟิงโกไมอีลิน" สารอาหารสำคัญตัวช่วยลูกสมองไว [อ้างอิง 8-11]

ในปัจจุบันสามารถส่งเสริมการสร้างปลอกไมอีลินได้โดยการจัดหาสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสมกับพัฒนาการของสมองในช่วงนั้น ๆ เช่น ในช่วงขวบปีแรก การฟังเสียงที่หลากหลายและการฟังเสียงดนตรีจะช่วยส่งเสริมการสร้างวงจรประสาทและการสร้างปลอกไมอีลินในส่วนของการรับเสียงและการแปลความหมายของเสียง ส่วนการฝึกการแก้โจทย์ปัญหาจะช่วยพัฒนาวงจรประสาทและการสร้างปลอกไมอีลินในสมองส่วนหน้าที่มีบทบาทในด้านการเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในช่วงวัยเรียน เป็นต้น

การได้รับสารอาหารที่พอเพียงก็เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมได้ โดยส่วนประกอบหลักในการสร้างปลอกไมอีลินคือสารอาหารที่มีชื่อว่า “สฟิงโกไมอีลิน” ซึ่งเป็นไขมันชนิดฟอสโฟไลปิดที่พบมากที่สุดในนมแม่ เพราะปลอกไมอีลินมีองค์ประกอบเป็นไขมันถึงร้อยละ 70 ดังนั้นไขมันที่ได้รับจากอาหารโดยเฉพาะไขมันจากนมแม่ จึงเป็นแหล่งที่สำคัญในการสร้างปลอกไมอีลินในสมอง โดยเด็กสามารถได้รับสารอาหาร สฟิงโกไมอีลิน จากแหล่งต่างๆ เช่น ไข่ ครีม ชีส นม รวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่มีสารสฟิงโกไมอีลิน
นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ทิ้งท้ายว่าการทำงานของสมองด้านกระบวนการทางสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของสมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่หากต้องอาศัยการติดต่อเชื่อมโยงวงจรประสาทระหว่างสมองหลาย ๆ ส่วนให้มาทำงานร่วมกัน จึงจะช่วยให้มนุษย์สามารถคิดได้ วิเคราะห์ได้ วางแผนได้ ยับยั้งและควบคุมตนเองได้ การส่งเสริมการส่งสัญญาณประสาทผ่านวงจรประสาทสามารถกระทำได้โดยการฝึกหรือการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ นอกจากนี้การได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสมจะทำให้สมองมีวัตถุดิบเพียงพอในการนำไปใช้สร้างเซลล์ในระบบประสาท ใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทและสารเคมีอื่น ๆ รวมไปถึงการสร้างปลอกไมอีลิน อันเป็นพื้นฐานในการส่งสัญญาณประสาทอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป [อ้างอิง 8-11]

Reference
1.Robert Stufflebeam. Neurons, Synapses, Action Potentials, and Neurotransmission - The Mind Project. http://www.mind.ilstu.edu/curriculum/neurons_intro/neurons_intro.php
2.Adrienne L. Tierney, et al. Brain Development and the Role of Experience in the Early Years. Zero Three. NIH Public Access Author manuscript; available in PMC 2013 July 25
3.Mind’s Machine, 2e, Figure 2.1 The Major Parts of the Neuron. https://2e.mindsmachine.com/figures/02/02.01.html. Textbook Reference: The Nervous System Is Composed of Cells, p. 22
4.Hiroaki Asou, et al. Development of Oligodendrocyte and Myelination in the Central Nervous System. Keio J Med 44(2), 47-52 (1995)
5.Otwin Linderkamp, Ludwig Janus, et al. Time Table of Normal Foetal Brain Development. Int. J. Prenatal and Perinatal Psychology and Medicine Vol. 21 (2009) No. 1/2, pp. 4–16
6.Purves D, Augustine GJ, Fitzpatrick D, et al., editors. Increased Conduction Velocity as a Result of Myelination Neuroscience. 2nd edition. Sunderland (MA): Sinauer Associates; 2001
7.Susuki k.Nature Education 2010, 3(9):59
8.Mind’s Machine, 2e, Figure 2.1 The Major Parts of the Neuron. https://2e.mindsmachine.com/figures/02/02.01.html. Textbook Reference: The Nervous System Is Composed of Cells, p. 22
9Hiroaki Asou, et al. Development of Oligodendrocyte and Myelination in the Central Nervous System. Keio J Med 44(2), 47-52 (1995)
10.Otwin Linderkamp, Ludwig Janus, et al. Time Table of Normal Foetal Brain Development. Int. J. Prenatal and Perinatal Psychology and Medicine Vol. 21 (2009) No. 1/2, pp. 4–16
11.Purves D, Augustine GJ, Fitzpatrick D, et al., editors. Increased Conduction Velocity as a Result of Myelination Neuroscience. 2nd edition. Sunderland (MA): Sinauer Associates; 2001


(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)



กำลังโหลดความคิดเห็น