นครพนม - อิ่มบุญ!! พ่อเมืองนครพนม นำพุทธศาสนิกชนนับ 1,000 ร่วมทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง วันวิสาขบูชา ริมฝั่งโขง หน้าวัดมหาธาตุ ถ.สุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม
เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ (29 พ.ค.) ที่หน้าวัดมหาธาตุ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงถนนสุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำพุทธศาสนิกชน ทหาร ตำรวจ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว นับ 1,000 คน เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ รวมถึงส่งเสริมปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน ลูกหลานเยาวชน นักเรียน นักศึกษา อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
โดยตลอดทั้งวันตามวัดสำคัญต่างๆ ของ จ.นครพนม ต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา นำประชาชน นักท่องเที่ยว ทำบุญ โดยเฉพาะวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม ที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จะมีการนำพุทธศาสนิกชนทำบุญ เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งทุกปีจะมีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาทำบุญ จำนวนมาก ส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว
สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย
ขณะที่ พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วน ชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ
แต่หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา
จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
วันวิสาขบูชายังเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ อีกด้วย กล่าวคือ วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง กับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน
ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดให้วันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวัน ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระบรมศาสดา
โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน