"อนุทิน" นำเก็บดอกกัญชาสายพันธุ์ไทยช่อแรก ม.แม่โจ้ ก่อนทยอยเก็บให้ครบ 1.2 หมื่นต้น ใน 7 ก.พ. คาดได้ช่อกัญชาแห้ง 1 พันกก. ส่งให้ อภ.ผลิตสารสกัดสูตร 1:1 THC CBD 1.8 แสนขวด รวม 1 ล้านซีซี ก่อนส่งกรมการแพทย์ใช้วิจัยผู้ป่วยคลื่นไส้จากเคมีบำบัด ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ปวดประสาท สมองเสื่อม พาร์กินสัน พร้อมปลูกกัญชาอินทรีย์แบบกลางแจ้ง เป็นต้นแบบการปลูกระดับครัวเรือน
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ ร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยช่อดอกแรก พร้อมปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัยการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) เป็นต้นแบบใช้ทางการแพทย์ในระดับครัวเรือน
นายอนุทิน กล่าวว่า การปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทยของที่นี่ เป็นความร่วมมือระหว่าง อภ. กรมการแพทย์ และ ม.แม่โจ้ โดยเป็นการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมในโรงเรือนแห่งแรกของอาเซียนจำนวน 12,000 ต้น ทำให้มีความปลอดภัย ปลอดสารพิษ ซึ่งวันนี้ได้เก็บเกี่ยวช่อดอกแรก และจะทยอยเก็บให้ครบทั้งหมดภายในวันที่ 7 ก.พ.นี้ โดยคาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาแห้งรวมทั้งหมด 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีสารสำคัญ THC และ CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด ส่งให้ อภ.สกัดเป็นสารสกัดกัญชา ให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคต่างๆ และใช้ในคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐ ส่วนรากต้นใบที่เหลือก็ไม่ได้ทำลาย แต่นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่อสำอาง และทางการแพทย์แผนไทยที่เอาไปเข้าตำรับตามที่ขอไว้ได้ และวันนี้ยังได้เริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) เพื่อให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชากลางแจ้งเพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้
“ขณะนี้เป้นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า กัญชาใช้รักษาโรคได้หลายโรค ที่นิยมคือ นอนไม่หลับ ไมเกรน พาร์กินสัน ลมชัก พอจ่ายด้วยน้ำมันกัญชาอาการก็ทุเลาลงมาก ซึ่งได้ให้นโยบายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ศึกษากฎหมายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ที่จะปลูกกัญชา ซึ่งก็เปิดกว้างขึ้น เพราะสามารถมาร่วมกับสถาบันทางการแพทย์และสถาบันทางการเกษตร ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนได้ ซึ่งเมื่อปลูกแล้วผลผลิตดีก็จะให้ อภ.รับซื้อมาทำสารสกัด หรือแพทย์แผนไทยก็นำไปผลิตยาได้” นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่าการปลูกกัญชาแบบกลางแจ้ง เพื่อเป็นต้นแบบให้ประชาชนปลูกในครัวเรือนตามนโยบาย 6 ต้นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของกัญชาบ้านละ 6 ต้น อยู่ในร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภาไปแล้ว ก็อยู่ในคิวของการพิจารณา แต่การปลูกกัญชาในระบบอินทรีย์แบบกลางแจ้งนี้ จะไปไกลกว่าเรื่อง 6 ต้น เพราะเมื่อมีต้นแบบที่ชัดเจนก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ขออนุญาตปลูกโดยที่ไม่ต้องทำโรงเรือนได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่พันธุ์ทาง เพราะเราปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และต้องมีความปลอดภัยจากสิ่งแปลกปลอม ส่วนที่ต้องขับเคลื่อนต่อคือทำให้คนเลิกมองว่าเป็นยาเสพติด เพื่อลดตราบาปและความกังวล ประชาชก็จะกล้าใช้มากขึ้น เช่นเดียวกับกระท่อม เราก็ต้องเลือกเอาส่วนที่ดีมาใช้ หากเราควบคุมสายพันธุ์ได้ดี ผลผลิตได้ดี การปลูกกัญชาก็จะเป็นทางเลือกในการปลูกที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
เมื่อถามถึงกรณีกระท่อม นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้ก็ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมดำเนินการศึกษาก็เหมือนกับกัญชาที่ต้องเลือกเอาส่วนที่ดีมีประโยชน์มาใช้ แต่มีความง่ายกว่ากัญชา เพราะไม่ได้เป็นยาเสพติด แต่ที่น่าลุ่นคือกัญชงที่นำมาทำในเชิงอุตสาหกรรมได้มากกว่ากัญชา
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งที่เก็บเกี่ยวครั้งนี้จะผลิตเป็นสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD เป็น 1 ต่อ 1 บรรจุขวดขนาด 5 ซีซี ได้ประมาณ 180,000 ขวด หรือ 1 ล้านลิตร และจะประสานกับกรมการแพทย์เพื่อผลิตในปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญตามความต้องการใช้กับผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย ด้วยกระบวนที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สั่งใช้มีความมั่นใจ ส่วนใบต้นรากก็มีประมาณ 3-4 หน่วยงานที่ขอนำไปใช้ประโยชน์ต่อ นอกจากนี้ จะมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อทำยากัญชาในรูปแบบของยาเหน็บทวารหนัก
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะนำผลิตภัณฑ์กัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์จากอภ. ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามแนวปฏิบัติทางคลินิกที่ดี (GCP-Good Clinical Practice) รวมถึงการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น รวมทั้งใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมกับอภ.และหน่วยงานต่างๆ ในการสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิด CBD เด่น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และโรคที่จำเป็นต้องใช้ CBD ในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
ศ.ดร.อานัฐ กล่าวว่า การปลูกกัญชาในโรงเรือนอัจฉริยะ มีเนื้อที่จำนวน 3,040 ตารางเมตร สามารถปลูกกัญชารุ่นแรกได้จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC ระดับสมดุล ซึ่งเดิมคาดว่าผลผลิตที่ได้จะเป็นตัวเมียและตัวผู้อย่างละครึ่ง แต่จากการใช้ระบบควบคุมแสง และอุณหภูมิ ลดความเครียดให้แก่ต้นกัญชา ก็ทำให้เกิดต้นตัวเมียมากขึ้นเป็น 7,500 ต้น หากเก็บเกี่ยวช่อดอกทั้งหมดนี้ก็จะได้ช่อดอกกัญชาแห้ง 1 พันกิโลกรัม สำหรับการปลูกแบบอินทรีย์ เราจะไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ เลย ส่วนโรคและแมลงเราจะใช้วิธีเก็บตัวหนอน ซึ่งเคยเก็บได้มากสุดถึง 1,500 ตัวใน 1 วัน ใช้แมลงจัดการกับแมลง ใช้จุลินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนชัดว่าการปลูกด้วยระบบอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมสามารถทำได้จริง สำหรับการปลูกในรอบที่สอง จะให้ได้ต้นกัญชาเพศเมีย 100% ส่วนการปลูกกัญชากลางแจ้ง ก็จะปลูกด้วยระบบอินทรีย์เหมือนกับในโรงเรือน โดยจะใช้ทั้งสายพันธุ์อิสระ 01 คัดเลือกต้นที่สายพันธุ์ที่ดีจำนวน 160 ต้น 10 สายพันธุ์ไทย และสายพันธุ์ต่างประเทศอีก 7 สายพันธุ์มาปลูก รวม 4,700 ต้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปลูกกลางแจ้งมีความยากกว่า เพราะแมลงลงได้ง่ายกว่าถึง 3 เท่า เพราะขนาดในโรงเรือนเมื่อเปิดประตูโรงเรือนก็ทำให้แมลงเข้าแล้ว เนื่องจากกัญชาที่มีสารทีเอชซีสูงจะมีกลิ่นในการล่อแมลง การปลูกกลางแจ้งก็ต้องทำการกำจัดแมลงด้วยวิธีแบบธรรมชาติเช่นนี้มากขึ้น
ศ.ดร.อานัฐ กล่าวว่า การปลูกกลางแจ้งคาดว่าผลผลิตอาจจะได้แค่ครึ่งเดียว เพราะยังมีเรื่องปัจจัยแสง ความร้อน และลม ที่ทำให้ต้นกัญชาเกิดความเครียด หนอนกินใบอีก ก็จะทำให้ได้ดอกเพศผู้ ดังนั้น หากสามารถทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าครึ่งหนึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม การปลูกแบบกลางแจ้งเช่นนี้หากทำได้ก็จะเป็นต้นแบบให้แก่ครัวเรือนต่างๆ ที่จะขออนุญาตปลูก แต่กัญชาหากปลูกย่งมากปัญหาเรื่องแมลงก็ยิ่งมาก ส่วนเรื่องของดินนั้น รากกัญชามีประสิทธิภาพการดูดแร่ธาตุต่างๆ ได้ดียิ่งกว่ามันสำปะหลัง จึงทำให้ดูดโลหะหนักได้ง่าย แต่การปลูกของเราจะใช้ปลูกลงในถุงที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ และใช้ดินที่สะอาด ปลอดสาร สำหรับเรื่องงบประมาณนั้น การปลูกในโรงเรือนถือว่าถูกกว่าการปลูกในห้องมืดของ อภ. โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อต้น ถูกกว่า 100 เท่า